กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
วันนี้ (๒๕ ก.ย. ๕๘) เวลา ๐๘.๓๐ น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ศปก.พม.) ครั้งที่๒๔๘/๒๕๕๗-๒๕๕๘ เพื่อรับทราบปัญหาทางสังคมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และร่วมหาแนวทางการแก้ไขปัญหาและการป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานในกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุม
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า จากกรณีเด็กชาย วัย 14 ปี ซึ่งพ่อแม่แยกทางกัน ต้องอาศัยเพียงลำพังกับย่า เกิดอาการน้อยใจแฟนสาววัยเดียวกันที่ขอกลับไปเยี่ยมแม่ที่บ้านเกิด แต่ระแวงกลัวแอบไปเจอแฟนเก่า จึงใช้เชือกไนล่อนผูกคอตายภายในบ้านที่จังหวัดนครราชสีมา ขณะที่ ผู้เป็นย่าผิดหวังเสียใจมาก เพราะเลี้ยงดูหลานเป็นอย่างดีนั้น ตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครราชสีมา (พมจ.นครราชสีมา) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้ การช่วยเหลือในเบื้องต้นตามภารกิจกระทรวงฯ พร้อมเร่งเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจผู้เป็นย่าอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวที่เกิดขึ้นเป็นการตัดสินใจเลือกทางออกที่ผิดของการแก้ไขปัญหาของเด็กและเยาวชนจนนำไปสู่การสูญเสียชีวิต และหากเด็กและเยาวชนมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องความรักควรมีสติคิดให้รอบคอบ และนำปัญหาดังกล่าวปรึกษาเพื่อนหรือผู้ปกครองเพื่อหาทางแก้ไขร่วมกัน พร้อมทั้งขอให้ผู้ปกครองดูแลและให้คำปรึกษาบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ซึ่งครอบครัวที่อบอุ่นจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดในการป้องกันและแก้ไขปัญหาของเด็กและเยาวชน
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับกรณี ภาคีเครือข่ายรถเมล์เพื่อประชาชนทุกคนต้องขึ้นได้ ร่วมกันคัดค้านแนวคิดของนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เกี่ยวกับการจัดหารถเมล์ไฟฟ้าจำนวน๔๐๐ – ๕๐๐ คัน และกำหนดลักษณะเป็นรถที่มีชานสูง เพื่อให้เหมาะสมกับกายภาพถนนของกรุงเทพฯ ส่วนการให้บริการ คนพิการนั้น จะต้องกำหนดเป็นตารางการเดินรถที่เป็นรถชานต่ำให้ชัดเจน เพื่อให้คนพิการเลือกใช้บริการได้ โดยจัดซื้อ รถชานต่ำไว้จำนวนหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งหมด ๓,๑๘๓ คัน ซึ่งคนพิการได้ต่อสู้เรื่องรถเมล์ชานต่ำมานานกว่า 10 ปีนั้น ตนได้กำชับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) เป็นหน่วยงานหลักติดตามกรณีดังกล่าวอย่างใกล้ชิดภายใต้ การดำเนินการตามภารกิจของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ต่อไป
"สำหรับกรณีชาวบ้านในชุมชนสายไหมสัมพันธ์ เขตสายไหม กว่า 100 ครอบครัว ประสบปัญหาเกิดอาการเครียดเนื่องจากความไม่แน่นอนในการหาที่อยู่ เพราะถูกสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) (พอช.) และเขตสายไหม กรุงเทพฯ กดดันและให้รื้อถอนบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ประตูระบายน้ำคลอง 2 ฝั่งใต้ ในเขตสายไหมอย่างเร่งด่วนภายใน 3 เดือนนั้น ตนมีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว พร้อมทั้งช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ตามภารกิจของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯต่อไป" พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย