กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
สถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จับมือ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เร่งเครื่องส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมในการบริหารจัดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในกรณีที่ประเทศไทยต้องกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไปในอนาคต โดยทั้ง 2 หน่วยงานได้ร่วมมือกันจัดงานสัมมนาเผยแพร่ผลการดำเนินงาน "โครงการขยายผลการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรม ระยะที่ 4" เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม เอ โรงแรม เซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว
เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัญหาโลกร้อนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมีแนวโน้มที่รุนแรงขึ้น ซึ่งมีต้นเหตุมาจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้น โดยปัญหาโลกร้อนที่เกิดขึ้นนี้เองได้ส่งผลให้เกิดการละลายของน้ำแข็งทั่วโลก ทำให้ปริมาณน้ำทะเลเพิ่มขึ้น และมีการคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นเพียง 1 เมตร ทำให้ปริมาณพื้นดินลดลง ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากต้องตกอยู่ในสภาวะไร้ที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ยังทำให้อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น โดยมีผลการศึกษาพบว่า น้ำทะเลที่อุ่นขึ้น จะทำให้ความหลากหลายทางชีววิทยาของสัตว์ทะเลเปลี่ยนแปลงไป แน่นอนว่าจากผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั่วโลกได้มีการตื่นตัวร่วมมือหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สำหรับประเทศไทยเองก็ได้ลงนามและให้สัตยาบันในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Non-Annex I คือไม่มีพันธกรณีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ในที่ประชุม COP 20 ประเทศไทยได้มีการกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมถึงแนวทางในการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยลงร้อยละ 7 ในภาคพลังงาน และภาคการคมนาคมขนส่งภายในปี พ.ศ. 2563 โดยเทียบกับ BAU (Business as Usual) และอาจลดได้ถึงร้อยละ 20 หากได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติ โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ซึ่งปัจจุบันได้มีการจัดทำแผนแม่บทแห่งชาติด้านการจัดการ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ช่วงปี พ.ศ. 2558 – 2593 เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ผลักดันการจัดทำแผนดำเนินงานอย่างเหมาะสมมีประสิทธิภาพในทุกภาคส่วนและทุกระดับ ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทย และส่งเสริมให้ไทยเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ภายใต้บริบทการพัฒนาประเทศแบบเศรษฐกิจพอเพียง
นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช ประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า งานสัมมนาเผยแพร่ผลการดำเนิน "โครงการขยายผลการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรม ระยะที่ 4" ในวันนี้ เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมทำการคำนวนค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร ทำให้ทราบถึงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง โดยองค์กรสามารถนำผลที่ได้มาใช้ต่อยอดการดำเนินงาน ใช้เป็นข้อมูลปีฐานขององค์กรในการจัดทำแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตน ซึ่งผลจากการดำเนินการดังกล่าวนั้นจะส่งผลให้องค์กรสามารถลดการใช้ทรัพยากรภายในองค์กร ซึ่งเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก และทำให้ภาพรวมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมของประเทศลดลงได้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ-ไทย นอกจากจะเป็นศูนย์รวมขององค์กรธุรกิจภาคเอกชน เป็นตัวแทนของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม มีหน้าที่สนับสนุน ส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของไทยให้แข็งแกร่งแล้ว อีกบทบาทหน้าที่หนึ่งที่สำคัญของสภาอุตสาหกรรมฯ คือ การส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมทั้งที่เป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมฯ และผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมทั่วไป มีการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งมีความรับผิดชอบต่อสังคม สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน โดยดำเนินการสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ ถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัย และเหมาะสมแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทุกสาขา และทุกพื้นที่ โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อก้าวสู่ความเป็นเลิศ และเพื่อความสมดุลด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศวิทยาอย่างยั่งยืน
"การดำเนินงานโครงการขยายผลการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรม ระยะที่ 4 นั้น เป็นอีกโครงการที่สภาอุตสาหกรรมฯ ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งโครงการดังกล่าวได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยในปี 2558 นี้ มีองค์กรนำร่องเข้าร่วมโครงการ และได้รับการขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร จาก อบก. ทั้งสิ้นจำนวน 39 แห่ง ซึ่งจากเดิมได้กำหนดเป้าหมายไว้ 35 แห่ง แต่จากการดำเนินงาน มีผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเล็งเห็นประโยชน์ที่จะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ จึงขอสมัครเข้าร่วมเพิ่มเติมอีกจำนวน 4 แห่ง ทั้งนี้ องค์กรทั้ง 39 แห่งที่เข้าร่วมเป็นองค์กรนำร่องในการดำเนินโครงการ ได้ให้การสนับสนุนข้อมูลสำหรับทำการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายในองค์กร ทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ เช่น ข้อมูลปริมาณการใช้ทรัพยากรต่างๆ ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต ข้อมูลปริมาณการใช้ไฟฟ้าขององค์กร รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการดำเนินงานต่างๆ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะช่วยให้ทุกภาคส่วนได้เข้าใจหลักการในการประเมินค่าคาร์บอนฟุต พริ้นท์ขององค์กร และทราบถึงแนวทางในการเตรียมตัวเพื่อขอรับการรับรองผล ซึ่งนอกจากจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้ประกอบการและธุรกิจของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกได้แล้ว ยังแสดงถึงความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของตนให้สามารถบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนได้ อีกทางหนึ่งด้วย" นายสมชาย กล่าว
ด้าน ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวว่า องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ ตลอดจนให้คำแนะนำแก่หน่วยงานต่างๆ เกี่ยวกับการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ได้ให้การส่งเสริมและสนับสนุนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทุกภาคส่วนโดยดำเนินการผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism) เรียกโดยย่อว่า CDM , โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) เป็นต้น ซึ่งโครงการขยายผลการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรม ระยะที่ 4 นี้ ถือเป็นอีกโครงการที่ทำให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะเน้นที่องค์กรภาคอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นภาคส่วนที่สำคัญที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่สูง ทำการคำนวณค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ ภายในองค์กรของตนเอง ซึ่งผลจากการดำเนินงานนี้ ทำให้สามารถประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมขององค์กรตน สามารถจำแนกสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีนัยสำคัญและหาแนวทางเพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้ภาพรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศลดลง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทยในการบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป