กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รุกสู่การเป็นศูนย์กลางระบบเครือข่ายและเชื่อมโยงสารสนเทศของกระทรวงเกษตรฯ สู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เปิดตัว Application "OAE.-Ag-Info" รายงานราคาสินค้าแบบเกาะติด ช่วยเกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยี และข่าวสารได้สะดวก รวดเร็ว ทั้งระบบ iOS และ Android เผย ธันวาคมนี้ ได้ยลโฉมระบบบริการเพิ่มเติมแน่นอน
นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐบาล ที่จะให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัล โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้า สามารถแข่งขันได้ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการ Road Map ในการพัฒนาการเกษตรและเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer ส่งผลภาคเกษตรไทย จำเป็นต้องพัฒนาก้าวไปอีกขั้นสู่ยุคดิจิทัลด้วยเช่นกัน
สศก. ในฐานะศูนย์กลางระบบเครือข่ายและระบบการเชื่อมโยงสารสนเทศการเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เห็นถึงความจำเป็นที่จะนำข้อมูลข่าวสารด้านการเกษตร ให้ส่งตรงถึงเกษตรกรโดยผ่านอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ (Smart Device) ซึ่งเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นแทนที่คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเดิม เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน และเปิดโอกาสให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีและข่าวสารได้สะดวก รวดเร็ว และลดข้อจำกัด ด้านระยะทางและเวลา จึงได้ดำเนินการพัฒนา Mobile Application ให้ใช้ได้ทั้งระบบ iOS และ Android ในชื่อ Application "OAE.-Ag-Info" เพื่อรายงานราคาสินค้าเกษตรรายวันและรายสัปดาห์ ให้เกษตรกรรับทราบความเคลื่อนไหวของราคาแต่ละตลาดทั่วประเทศ โดยสามารถเปรียบเทียบกับราคารับซื้อของแต่ละตลาด ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรใช้ประกอบการตัดสินใจในการขายผลผลิตได้อย่างรวดเร็วทันต่อสถานการณ์
นอกจากนี้ สศก. จะได้เร่งพัฒนา Mobile Application "OAE.-Ag-Info" ให้มีความสมบูรณ์และครอบคลุม กับความต้องการของเกษตรกรให้มากยิ่งขึ้น โดยกำหนดระบบบริการเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะสามารถพร้อมให้บริการเพิ่ม ในเดือนธันวาคม 2558 ดังนี้
1. ข้อมูลด้านนโยบายของรัฐ ได้แก่ นโยบายและมาตรการการให้ความช่วยเหลือ การประชาสัมพันธ์ต่างๆ ของรัฐ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรโดยตรง
2. การเตือนภัยและข่าวสารการประชาสัมพันธ์ ได้แก่ ข่าวสารด้านที่เป็นประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะการเตือนภัย ที่อาจเกิดต่อภาคเกษตร เช่น ภัยจากโรคแมลงระบาด น้ำท่วม น้ำแล้ง เพื่อให้เกษตรกรรับทราบข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้สามารถเตรียมตัวป้องกันได้ก่อนจะเกิดเหตุการณ์
3. การตรวจสอบต้นทุน สำหรับใช้คำนวณต้นทุนเงินสดอย่างง่าย ซึ่งทำให้เกษตรกรได้รับทราบว่าในขณะนี้ ตนเองมีการลงทุนไปนั้น มีกำไรมากน้อยเพียงไร ซึ่งช่วยให้เกษตรกรนำผลนั้นไปปรับการลงทุนให้เหมาะสมต่อไป
4. การพยากรณ์อากาศ / สถานการณ์น้ำ โดยเชื่อมโยงข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา และกรมชลประทาน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นปัจจัยหนึ่งในการวางแผนการทำกิจกรรมการเกษตรของเกษตรกรที่ต้องพึ่งพิงปัจจัยทางธรรมชาติ
5. การสรุปสถานการณ์ในภาพรวม ที่จำเป็นต่อการวิเคราะห์ นำไปใช้งาน โดยจะแสดงในรูปแบบของภาพกราฟิก ที่ให้เกษตรกรสามารถเข้าใจง่าย ประกอบด้วย ปริมาณการผลิตรายเดือน ราคาขายรายวันรายเดือน ราคา FOB ปริมาณ และมูลค่าการส่งออกรายเดือน โดยข้อมูลเหล่านี้ เกษตรกร/นักวิชาการ สามารถนำไปวิเคราะห์ให้เห็นถึงแนวโน้มด้านราคา ผลผลิต ซึ่งจะช่วยให้การตัดสินใจลงทุนทางการเกษตรมีความเสี่ยงลดลง และสามารถใช้ในการเตรียมรับผลกระทบที่อาจเกิดได้อย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ Application ที่พัฒนาขึ้น นับเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนการพัฒนาสังคมดิจิทัลที่มีคุณภาพ ด้วยข้อมูลข่าวสารที่เอื้ออำนวยต่อเกษตรกรและประชาชนทุกระดับ ในการเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล และเป็น ส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนภาคเกษตรสู่ "เศรษฐกิจดิจิทัล" อย่างยั่งยืน