กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
สพฉ.เข้าร่วมประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข 10 ประเทศอาเซียน พร้อมโชว์ศักยภาพด้านการพัฒนาระบบการแพทย์ในภาวะภัยพิบัติของ ASEAN ในรอบปีที่ผ่าน "หมอภูมินทร์" เปิดแผนการทำงานต่อเนื่อง เตรียมจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรการแพทย์ฉุกเฉินของชาติสมาชิกเพื่อช่วยเหลือกันในภาวะภัยพิบัติ พร้อมดันต้นแบบทีมแพทย์ฉุกเฉินเพื่อรับมือกับภาวะภัยพิบัติให้เป็นมาตรฐานของอาเซียน
ที่เมืองดาลัดประเทศเวียดนาม ได้มีการจัดประชุม SOMHD (Senior Officials Meeting on Health Development) ซึ่งเป็นการประชุมของผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขจาก 10ประเทศ ASEAN โดยการประชุมในครั้งนี้นั้นสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมรายงานผลการดำเนินงานของโครงการความร่วมมือระหว่างไทยกับ JICA ในด้านการพัฒนาระบบการแพทย์ในภาวะภัยพิบัติของ ASEANในรอบปีที่ผ่านมาด้วย
นพ.ภูมินทร์ ศิลาพันธ์ รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้เปิดเผยถึงรายละเอียดในการเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ว่า การประชุมในครั้งนี้นั้นเป็นการประชุมในระดับปลัดกระทรวงสาธารณสุข 10 ประเทศอาเซียนซึ่งมีการจัดการประชุมขึ้นปีละครั้ง โดยการประชุมก่อนหน้านี้ได้มีการกำหนดข้อตกลงว่า ประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศจะร่วมมือกันดำเนินการในเรื่องสาธารณสุข 20 เรื่อง โดยหนึ่งในยี่สิบเรื่องนั้น มีเรื่องที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินรับผิดชอบอยู่คือเรื่องของการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินและระบบการแพทย์ฉุกเฉินในภาวะภัยพิบัติของชาติอาเซียนให้ดีขึ้นทั้งในประเทศและในระหว่างประเทศของชาติสมาชิก โดยเรามุ่งหวังให้แต่ละประเทศสามารถเข้าให้การช่วยเหลือกันและกันในยามที่เกิดภาวะภัยพิบัติได้ โดยการดำเนินการในเรื่องนั้นประเทศไทยได้เป็นแกนนำหลักร่วมกับประเทศเวียดนาม
รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)กล่าวถึงความคืบหน้าในการทำงานต่อว่า และในหนึ่งปีที่ผ่านมานั้นเราได้ดำเนินการดังนี้ 1. เราได้ทำการสำรวจข้อมูลของสถานการณ์ใน 10 ชาติอาเซียน ทั้งทางด้านการแพทย์ฉุกเฉินและการแพทย์ฉุกเฉินในสภาวะภัยพิบัติเพื่อนำข้อมูลตรงส่วนนี้มาเป็นฐานคิดว่าต่อไปในอีก 3-5 ปีข้างหน้าเราจะดำเนินการอย่างไร 2 .เราได้ประชุมและวางแผนการทำงานในอีก 3 ปีข้างหน้า ดังนี้ เราต้องการให้เกิดทีมแพทย์ฉุกเฉินเพื่อรับมือกับภาวะภัยพิบัติให้เป็นมาตรฐานของอาเซียน ซึ่งเราจะสร้างมาตรฐานขึ้นมาและจะมีการจัดฝึกซ้อมร่วมกัน นอกจากนี้แล้วเรายังจะจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรว่าสมาชิก 10 ชาติอาเซียนในแต่ละประเทศนั้นมีทรัพยากรอะไรที่สามารถนำมาช่วยเหลือกันได้หากเกิดภัยพิบัติ และเราเรายังเตรียมจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมให้กับประเทศต่างๆ เพื่อให้ทีมแพทย์ฉุกเฉินของแต่ละประเทศสามารถรับมือภาวะภัยพิบัติได้อย่างเต็มที่ด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเป้าหมายที่เราต้องการจะทำให้เกิดขึ้นในอีก 3-5 ปีข้างหน้านี้ และแผนต่างๆ ที่เรากล่าวมานี้ได้รับการความเห็นชอบจากที่ประชุม SOMHD ครั้งนี้เรียบร้อยแล้ว
"จากนี้ต่อไปเราก็จะมุ่งมั่นทุ่มเททำโครงการนี้ให้สำเร็จเพื่อให้เมืองไทยและประเทศเพื่อนบ้านมีระบบการแพทย์ฉุกเฉินและการแพทย์ฉุกเฉินในภาวะภัยพิบัติที่ดี เพื่อให้ภูมิภาค ASEAN มีระบบความร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามประสบภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ สุดท้ายก็ไม่ใช่เพื่อใคร ก็เพื่อลูกหลานของเราและคนที่เรารัก" นพ.ภูมินทร์กล่าว