กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 แจงผลการศึกษา เขตความเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เผย ผลผลิตและผลตอบแทนในแต่ละเขตความเหมาะสม เจาะแบ่งโซนพื้นที่เพื่อเป็นแนวทางการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสินค้าเกษตรที่สำคัญ (Zoning)
นายพลเชษฐ์ ตราโช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 จังหวัดสงขลา (สศท.9) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการศึกษา เขตความเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวของอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา โดยมีพื้นที่ และมีการปลูกข้าวในพื้นที่แต่ละเขตความเหมาะสม ประกอบด้วย เขตพื้นที่ความเหมาะสมมาก (S1) จำนวน 172,432 ไร่ มีการปลูกข้าวจำนวน 100,469 ไร่ เขตความเหมาะสมปานกลาง (S2) จำนวน 4,903 ไร่ มีการปลูกข้าวจำนวน 767 ไร่ เขตความเหมาะสมน้อย (S3) จำนวน 7,171 ไร่ มีการปลูกข้าวจำนวน 469 ไร่ และเขตไม่เหมาะสม (N) จำนวน 31,338 ไร่ มีการปลูกข้าว 657 ไร่ หากจำแนกข้อมูลแต่ละเขต พบว่า
การปลูกข้าวในเขตความเหมาะสม S1 และ S2 พบว่า มีผลผลิตเฉลี่ย 960 กก./ไร่ ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 6,048 บาท/ไร่ มีต้นทุนเฉลี่ย 4,787.25 บาท/ไร่ คิดเป็นต้นทุนเฉลี่ย 4.99 บาท/กก. มีรายได้สุทธิ 1,260.75 บาท/ไร่ ทั้งนี้ การจัดทำแนวทางการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสินค้าเกษตรที่สำคัญในเขตความเหมาะสม S1 และ S2 ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการลดต้นทุน รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
การปลูกข้าวในเขตความเหมาะสม S3 และ N พบว่า มีผลผลิตเฉลี่ย 650 กก./ไร่ อย่างไรก็ตาม เป็นที่สังเกตว่าผลผลิตของข้าวที่ปลูกในเขตความเหมาะสมน้อย (S3) กับเขตไม่เหมาะสม (N) บางส่วนไม่แตกต่างจากผลผลิตของข้าวที่ปลูกในเขตความเหมาะสมมาก ( S1) และเขตความเหมาะสมปานกลาง (S2) เนื่องจากมีการบริหารจัดการไร่นาที่ดี ประกอบกับนาบางพื้นที่อยู่ในเขตแหล่งชุมชน เมื่อนำมาจัดทำแผนที่ความเหมาะสมจึงถูกระบุว่าเป็นเขตไม่เหมาะสม (N)
ทั้งนี้ การปลูกข้าวในเขตความเหมาะสม S3 และ N มีผลตอบแทนเฉลี่ย 4,095 บาท/ไร่ มีต้นทุนเฉลี่ย 4,524.43 บาท/ไร่ คิดเป็นต้นทุนเฉลี่ย 6.96 บาท/กก. มีรายได้สุทธิ -429.43 บาท/ไร่ อย่างไรก็ตาม เป็นการคิดรวมค่าแรงตนเองทำให้รายได้สุทธิติดลบ ทั้งนี้ การจัดทำแนวทางการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสินค้าเกษตรที่สำคัญในเขตความเหมาะสม S3 และ N ต้องให้ความสำคัญโดยพิจารณาเป็นกรณี คือ หากยืนหยัดทำนาอย่างเดียว ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการบริหารจัดการดิน ปรับปรุงโครงสร้างดินใหม่ การตรวจวิเคราะห์ดิน หรือหากทำนาและปลูกพืชทางเลือกไปด้วยเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยง ควรดูต้นทุน ผลผลิต และรายได้สุทธิของพืชทางเลือก
นอกจากนี้ ได้มีการแบ่ง ZONE เพื่อการบริหารจัดการ โดยอยู่บนพื้นฐานของเขตความเหมาะสม ณ ระดับต่างๆ และความสอดคล้องในบริบทที่ครอบคลุมมิติด้านกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ดังนี้ 1) ZONE นาพรุ มีอาณาบริเวณ ต.บ้านขาวส่วนที่ติดทะเลน้อย โดยเกษตรกรเรียกเขตความเหมาะสม S3 และ N ว่านาพรุ เนื่องจากมีสภาพเป็นดินเปรี้ยว 2) ZONE นาชลประทาน (INTENSIVE) มีอาณาบริเวณต.บ้านขาว ต.ตะเครียะ ต.แดนสงวน ต.คลองแดน และ ต.บ้านใหม่ 3) ZONE ทำนาเพื่อยังชีพตามวิถี มีอาณาบริเวณ ต.ท่าบอน ต.ระโนด ต.ปากแตระ ต.พังยาง ต.ระวะ ต.วัดสน และต.บ่อตรุ
นายพลเชษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สศท.9 ยังได้มีการการวิเคราะห์ SWOT และ Tows Matrix นำมาซึ่งยุทธศาสตร์ 3 ด้าน คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การบริหารจัดการภาคใต้ความเหมาะสมทางกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม ยุทธศาสตร์ที่ 2 การผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และ ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างความยั่งยืนในอาชีพ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการตามแนวทางการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสินค้าเกษตรที่สำคัญ (Zoning) นั้น สิ่งสำคัญ คือ ความสอดคล้องในบริบทที่ครอบคลุมมิติด้านกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพร้อมและความสมัครใจของเกษตรกรด้วย