กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--124 คอมมิวนิเคชั่นส คอนซัลติ้ง
นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ในฐานะตัวแทนกลุ่ม ปตท. เข้าร่วมการประชุมสัมมนาผู้บริหารระดับสูง G-20Y Summit 2015 ณ ประเทศฝรั่งเศส โดยกลุ่ม ปตท. ได้รับเชิญให้เป็น 1 ใน 90 ของผู้ร่วมสัมมนา ที่ G-20Y คัดเลือกจากผู้สมัครประมาณ 300-400 คน ซึ่งเป็นเพียงองค์กรเดียวที่มาจากประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
G-20Y เป็นองค์กรเอกชนที่มีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างเครือข่ายของกลุ่มผู้นำจากองค์กรชั้นนำระดับโลกที่เป็น Young Executive จากภาคเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ องค์กรไม่แสวงหากำไร และจากองค์กรภาครัฐที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางและแนวโน้มของโลกในประเด็นสำคัญต่างๆ ทั้งจากประเทศในกลุ่ม G20 และภูมิภาคอื่นๆ เพื่อร่วมกันเสนอแนะ แสวงหาแนวทางในกำหนดทิศทางของโลก
การประชุม G-20Y Summit เป็นเวทีที่ผู้บริหารร่วมหารือแลกเปลี่ยนใน 6 ประเด็นหลักที่มีความสำคัญ และมีผลกระทบต่ออนาคตของโลก ได้แก่ ตลาดพลังงาน ความมั่นคงทางด้านอาหาร อุตสาหกรรมทางการเงินของโลก การพัฒนาด้านประชากรของโลก การสร้างงาน และนวัตกรรมดิจิตัลและการเปลี่ยนแปลง ผู้เข้าร่วมสัมมนาจะเข้าร่วมหารือโดยเป็นคณะกรรมการในแต่ละประเด็นดังกล่าว และจัดทำข้อเสนอในแต่ละประเด็นและรวบรวมเป็นข้อเสนอรวม G-20Y Summit Final Communique. 2015 เพื่อนำเสนอต่อองค์กรระหว่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญในเวทีโลก ไม่ว่าจะเป็น IMF, World Bank, UN, OECD และองค์กรอื่นๆ ที่มีบทบาทในเรื่องดังกล่าว
โดยนายนพดล ปิ่นสุภา ได้รับการคัดเลือกให้เป็นกรรมการในคณะกรรมการเรื่องตลาดพลังงาน (Energy Markets Committee) ร่วมกับผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งเป็นตัวแทนจากองค์กรต่างๆ อาทิEnel Green Power, Shell, DP World, The Linde Group, Mitsubishi Hitachi Power Systems Americas Inc., Mitsubishi Heavy Industries Inc., South Australia Department of Treasury and Finance, Legislative Strategies and Relations with Authorities (Eni S.P.A., Italy), Provincial Government of Walloon-Brabant (Termeca, Belgium) เป็นต้น คณะกรรมการเรื่องตลาดพลังงาน ได้ร่วมกันหารือแลกเปลี่ยนและจัดทำข้อเสนอในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับตลาดพลังงานของโลก ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของสภาพดินฟ้าอากาศ ซึ่งเป็นผลกระทบจากการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ การส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการเข้าถึงแหล่งพลังงานของประชากรโลก โดยคณะกรรมการเรื่องตลาดพลังงานต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ปัจจุบันประชากรทั่วโลกกว่า 1.3 พันล้านคนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ และนับเป็นตัวแปรสำคัญต่อการสร้างตลาดพลังงานของโลกให้มีความมั่นคง มีเสถียรภาพ และนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของโลก ต้องพิจารณาถึงความสามารถในการเข้าถึงแหล่งพลังงานของประเทศต่างๆหรือผู้ใช้พลังงานด้วย เพราะแต่ละประเทศมีความสามารถและศักยภาพในการเข้าถึงที่ไม่เท่ากัน
คณะกรรมการเรื่องตลาดพลังงานได้ร่วมกันจัดทำข้อเสนอในเรื่องการเข้าถึงแหล่งพลังงาน โดยเสนอให้ 1) ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่เกี่ยวกับระบบไฟฟ้า เช่น การส่ง การจัดเก็บ และระบบการบริหารจัดการพลังงาน 2) มุ่งใช้ประโยชน์สูงสุดจากราคาค่าขนส่งไฟฟ้าที่ลดลงและการพัฒนาเทคโนโลยีในการกักเก็บไฟฟ้าเพื่อเพิ่มการเข้าถึงแหล่งพลังงานให้มากยิ่งขึ้น 3) สนับสนุนและพัฒนากลไกด้านการเงินเพื่อสนับสนุนการลงทุนเรื่องการเข้าถึงแหล่งพลังงาน และ 4) สนับสนุนการสร้างพันธมิตรระหว่างอุตสาหกรรมต่างๆเพื่อสร้างความร่วมมือและปรับปรุงศักยภาพของโครงการต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมการสื่อสาร อุตสาหกรรมการเกษตร เป็นต้น
นายนพดล กล่าวว่า จากการเข้าร่วมประชุมสัมมนาในครั้งนี้มั่นใจว่าแนวทางการดำเนินธุรกิจของ GPSC เรื่องการลงทุนในบริษัทที่พัฒนาการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าในรูปแบบแบตเตอรี่ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการวิจัยและพัฒนา อยู่ในทิศทางของ World Mega Trends ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและระบบสายส่งไฟฟ้าในปัจจุบันและอนาคตต้องพิจารณาด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมากขึ้น เช่นเดียวกันกับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ต้องสามารถขยายระยะเวลาการจ่ายไฟฟ้าได้นานและคงที่มากขึ้น ดังนั้นเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานไฟฟ้ารูปแบบแบตเตอรี่ จะเป็นกุญแจสำคัญในการรองรับทิศทางของโลกดังกล่าว อีกทั้งเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่อยู่ระหว่างวิจัยและพัฒนาอยู่นั้น ได้กำหนดโจทย์ที่สำคัญคือต้องสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ให้ได้สูงสุดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยยกระดับมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับประชากรโลกอีกด้วย
การพัฒนาการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าในรูปแบบแบตเตอรี่นั้น นับเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของ GPSC กล่าวคือ บริษัทได้ลงทุนในธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่นอกเหนือจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าและสาธารณูปโภค โดยได้เข้าร่วมลงทุนกับ 24M Technology Inc. ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งประกอบธุรกิจหลักในการวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ประเภทลิเทียม-ไอออน (Lithium-Ion) ด้วยเทคโนโลยีการผลิตใหม่ เพื่อดำเนินธุรกิจระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าและแบตเตอรี่ โดย GPSC เล็งเห็นว่า ธุรกิจระบบการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการในการใช้ไฟฟ้าของโลกที่มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งการเพิ่ม Reliability ในภาคอุตสาหกรรม การตอบสนองความต้องการใช้พลังงานของภาคครัวเรือน การเพิ่มเสถียรภาพของระบบส่งไฟฟ้า อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการเข้าถึงพลังงาน และจะช่วยยกระดับมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับประชากรโลกได้ และยังมีส่วนช่วยสนับสนุนการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย นอกจากนี้ GPSC ยังได้ลงทุนในธุรกิจบริษัทจัดการพลังงาน(Energy Service Company: ESCO) เพื่อให้บริการแบบครบวงจร ด้านการอนุรักษ์พลังงาน และเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน รวมทั้งการลงทุนพัฒนาโครงข่ายสายส่งไฟฟ้า โดยมุ่งเน้นตลาดในต่างประเทศที่ยังไม่มีโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าที่ครอบคลุม เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าและช่วยให้ประชากรสามารถเข้าถึงการใช้ไฟฟ้าได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย นายนพดลกล่าวสรุป