กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เนื่องจากประเทศอินโดนีเซียได้ออกกฎกระทรวงที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าสินค้าเกษตรจากไทยหลายฉบับ อาทิ กฎระเบียบควบคุมการนำเข้าสินค้าพืชสวน และการจำกัดจุดนำเข้าสินค้าผักและผลไม้สดเหลือเพียง 4 จุด ได้แก่ ท่าเทียบเรือ Soekarno-Hatta เมืองมาคาสซ่า ท่าเทียบเรือ Belawan เมืองเมดาน ท่าเทียบเรือ Tanjung Perak เมืองสุราบายา และท่าอากาศยาน Soekarno-Hatta กรุงจาการ์ตา ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกหอมแดงของไทยค่อนข้างมาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรเร่งยื่นเสนอพื้นที่ปลอดศัตรูพืชหรือ Pest Free Area (PFA) สำหรับหอมแดง เพื่อให้สามารถส่งออกหอมแดงเข้าไปได้ทุกด่านนำเข้าทั่วประเทศอินโดนีเซีย โดยเฉพาะด่านท่าเรือที่กรุงจาการ์ตา ซึ่งเป็นด่านนำเข้าหลักของสินค้าจากไทยและประเทศต่างๆ
ภายหลังอินโดนีเซียส่งเจ้าหน้าที่หน่วยงาน IAQA มาตรวจประเมินแปลงปลูกหอมแดง โรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุหอมแดง 2 บริษัท ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ รวมทั้งดูงานห้องปฏิบัติการโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ผลปรากฏว่า IAQA มีความพึงพอใจในระบบการผลิตหอมแดงและระบบการควบคุมศัตรูพืชในหอมแดงของไทย กระทรวงเกษตรอินโดนีเซียจึงได้ประกาศรับรองแหล่งปลูกหอมแดง จังหวัดศรีสะเกษ เป็นพื้นที่ปลอดศัตรูพืชกักกัน 2 ชนิด ได้แก่ Ditylenchus destructer และ Urocystis cepulae ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2558 ซึ่งการได้รับอนุญาตครั้งนี้ ทำให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าหอมแดงไปยังอินโดนีเซียโดยผ่านเข้าทางท่าเรือ Tanjung Priok ซึ่งเป็นท่าเรือสำคัญของอินโดนีเซียได้
โดยเบื้องต้นคาดว่า จะทำให้การค้าและการส่งออกหอมแดงของไทยมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ทั้งยังทำให้ผู้ส่งออกไทยสามารถส่งออกได้ทุกจุดนำเข้า และสามารถกระจายสินค้าไปยังเมืองต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบสินค้าและประหยัดต้นทุนค่าขนส่งให้กับผู้ประกอบการ พร้อมลดความเสี่ยงปัญหาสินค้าเน่าเสีย และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับเกษตรกรของไทยด้วย ซึ่งจะช่วยผลักดันปริมาณและมูลค่าการส่งออกหอมแดงไทยเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตร เร่งดำเนินการขอขยายพื้นที่ปลอดศัตรูพืชกักกันสำหรับหอมแดง (Country free) ให้ครอบคลุมแหล่งปลูกหอมแดงเพื่อการส่งออก เช่น จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และลำพูน เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้กับเกษตรกรมากขึ้น
ทั้งนี้ พื้นที่ปลูกหอมแดงของจังหวัดศรีสะเกษที่ได้รับการรับรองพื้นที่ปลอดศัตรูพืชกักกันจากกระทรวงเกษตรของอินโดนีเซียนี้ มีพื้นที่ปลูกกว่า 28,580 ไร่ เกษตรกร จำนวน 7,943 ครัวเรือน โดยแหล่งปลูกสำคัญอยู่ที่อำเภอราษีไศล ยางชุมน้อย ขุขันธ์ อุทุมพรพิสัย วังหิน และกันทรารมย์ ซึ่งปีการผลิต 2557/2558 นี้ คาดว่าจะมีผลผลิต ประมาณ 92,976 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,394 ล้านบาท
"ปี 2558 นี้ อินโดนีเซียได้ออกกฎระเบียบการขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการ โดยกำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบความปลอดภัยอาหาร หากประเทศใดไม่ได้รับการจัดทำข้อตกลงการยอมรับร่วมหรือ Mutual Recognition Arrangement (MRA) และไม่มีการขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการ จะไม่สามารถส่งออกสินค้าไปยังอินโดนีเซียได้ ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559 กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมวิชาการเกษตร จึงเร่งดำเนินการตามเงื่อนไขและผลักดันให้อินโดนีเซียพิจารณาการจัดทำ MRA กับไทยให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ก่อนที่กฎระเบียบนี้จะมีผลบังคับใช้ เพื่อไม่ให้การส่งออกสินค้าผักและผลไม้ไทยไปยังอินโดนีเซียชะลอตัวและสะดุดลง ซึ่งอาจกระทบต่อภาวะตลาดและราคาภายในประเทศได้" นายธีรภัทร กล่าว