กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--กรมสุขภาพจิต
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี เป็น "วันผู้สูงอายุสากล"(International Day of Older Persons) โดยกำหนดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 ต.ค.1991 (พ.ศ. 2534) เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของผู้สูงอายุ ที่ได้สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้กับสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งหลายประเทศได้ตอบรับและตระหนักถึงคุณค่าของผู้สูงอายุ กำหนดให้มีวันสูงอายุแห่งชาติขึ้นในประเทศของตน สำหรับประเทศไทยเองได้กำหนดให้วันที่ 13 เมษายนของทุกปี ซึ่งถือเป็นวันสงกรานต์ และวันปีใหม่ของไทย เป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ทั้งนี้ ปัจจุบัน ประชากร "วัยสูงอายุ" เพิ่มมากขึ้นทุก ๆ ปี จากการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ.2557 โดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนและสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและเห็นได้ชัด โดยปี 2545 มีผู้สูงอายุ คิดเป็นร้อยละ 9.4 ของประชากรทั้งประเทศ ปี 2550 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10.7 ปี 2554 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 12.2 หรืออาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทย เป็นประเทศหนึ่งในอาเซียนที่เข้าสู่สังคมของผู้สูงวัย (Aging Society) คือ มีจำนวนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด ในขณะที่วัยเด็ก และวัยแรงงานลดน้อยลง โดยในปี 2557 มีผู้สูงอายุจำนวนทั้งสิ้น 10,014,705 คน หรือ ร้อยละ 14.9 ของประชากรทั้งหมด เป็นชาย ร้อยละ 45.1 และหญิงร้อยละ54.9 ทั้งนี้ ในปี 2568 ได้คาดประมาณการณ์ว่า สัดส่วนจำนวนผู้สูงอายุ จะมีมากกว่า 15 ล้านคน หรือร้อยละ 23 อีกทั้ง ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี พ.ศ. 2570 เมื่อสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มเป็น ร้อยละ 20 และอายุ 65 ปีขึ้นไป เพิ่มเป็น ร้อยละ 14
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า นอกจากวันที่ 1 ตุลาคม จะเป็นวันผู้สูงอายุสากลแล้ว ยังเป็นวัน เริ่มต้นชีวิตใหม่ ชีวิตที่สร้างสรรค์ ของผู้เกษียณอายุอีกด้วย ถึงแม้ว่าสมองของผู้มีอายุ 60 ปี ขึ้นไปจะมีความเสื่อมในด้านจำนวนเซลสมอง สารสื่อประสาท หรือหลอดเลือดสมองที่เสื่อมลง ทำให้การเรียนรู้สิ่งใหม่ ความคิด ความจำอาจลดลง แต่สมองในส่วนการสร้างสรรค์ ของผู้สูงอายุยังคงทำงานได้อย่างดี จนเข้าวัยปีที่ 90 จึงไม่อยากให้มองว่า ถ้?าเกษียณแล้ว จะทำให้กลายเป็?นคนชรา?ไป ทุกอย่างอยู่ที่มุมมองความคิดของเรา ช่วงเวลานี้ จึงเป็?นช่วงเวลาที่จะได้?หยุดภาระงาน ได้?ทำงานใหม่? หรือทำอะไรที่อยากทำ ได้?มีเวลาอยู่?กับครอบครัว หรืออยู่กับตัวเองมากขึ้น ตลอดจนเป็นช่วงเวลาของการสร้างสรรค์สิ่งดีงามและคุณค่าให้กับสังคมนี้ได้อีกมาก ซึ่งถ้?าคิดในทางบวก ช่?วงเวลานี้ก็จะเป็?นช่?วงเวลาที่ดี แต่?ถ้?าคิดทางลบก็จะเป็?นช่?วงเวลาที่ทำให้รู้สึกแย่ และหากไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้บ้าง อาจมีภาวะซึมเศร้าอยู่นาน กินไม่ได้นอนไม่หลับ คิดว่าถูกทอดทิ้ง และมองตัวเองไม่มีคุณค่าได้
อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้แนะแนวทางอยู่อย่างมีความสุขในวัยเกษียณ ว่า อย่างแรก คือ ต้อง สร้างคุณค่าให้ตัวเอง (building self-esteem) ทำในสิ่งดีๆ ให้กับตนเองและผู้อื่น ช่วยผู้อื่นและสังคมตามที่ทำได้ มีเป้าหมายชีวิต ไม่เปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น ทำความสำเร็จเล็กๆในแต่ละวัน และมีความสุขกับสิ่งเล็กๆ นั้น เสมอ อย่างที่สอง คือ สร้างสุขภาพกายและสุขภาพใจให้ตนเอง (Building better health and good mental health) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน การตรวจสุขภาพ การฝึกจิต ฝึกสมาธิ ทำจิตใจให้สดใส ซึ่งกายดี ใจดี สร้างได้ไม่ยาก หลักการ คือ จะเริ่มที่ใดก่อนก็ได้ ระหว่าง กาย ใจ และการกระทำ ทดลองได้ เช่น ถ้าใครทำให้โกรธ ลองยิ้มดู ใจจะเริ่มหายขุ่นมัว และร่างกายก็จะสงบ หรือจะเริ่มที่คิด คือนับ 1-10 ก็จะสงบใจได้ หรือเริ่มที่กาย เมื่อโกรธใคร ก็พาตัวเดินออกไปให้ไกลคนที่โกรธ ใจก็จะสงบ หายโกรธได้ ที่สำคัญ เมื่อใดที่รู้สึกหดหู่ เหงา เศร้า ไม่สดชื่น ต้องรู้ตัว รีบปรับตัว อยู่กับคนที่รัก ไปพบเพื่อนฝูง พุดคุยปรึกษาปัญหา ทำกิจกรรมที่ชอบ ช่วยเหลือผู้อื่น ถ้าทำทุกอย่างแล้วไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ และ อย่างที่สาม คือ สร้างกิจกรรมที่หลากหลาย (building physical activities) เพื่อเป็นผู้สูงอายุที่ยังคงความหนุ่ม ความสาว (active aging) ชะลอความเสื่อม ให้นานที่สุด ซึ่ง ตามสภาวะของร่างกาย สามารถทำได้ทั้งกิจกรรมในบ้าน นอกบ้าน ทำคนเดียวหรือเป็นกลุ่ม งานบ้าน งานสวน เดินเล่น เข้าชมรม เล่นกีฬา ปั่นจักรยาน ออกกำลังกายตามความชอบ ความพอใจ รสนิยม และบริบทการใช้ชีวิต เพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง และร่างกาย ให้มีความคล่องแคล่ว ว่องไว เป็นต้น
ผู้สูงอายุวัยเกษียณ นอกจากต้องดูแลตนเอง ทำตนเองให้มีคุณค่าต่อครอบครัวและสังคมแล้ว ลูกหลานและคนรอบข้างก็ควรตระหนักถึงคุณค่าและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน โดยไม่ทำให้พวกท่านรู้สึกว่าเป็นภาระของสังคม ในทางตรงข้าม ทำให้พวกท่านรู้สึกว่ายังเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญที่สามารถช่วยสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้กับครอบครัวและสังคมนี้ได้อีกมากมาย ลูกหลานจึงควรให้ความเคารพยกย่อง เชื่อฟังในสิ่งที่ท่านอบรมสั่งสอน ให้ท่านมีโอกาสทำในสิ่งที่ต้องการ ไม่ทอดทิ้งให้อยู่ลำพัง หาเวลามาเยี่ยมเยียน พาไปทำกิจกรรม หรือพาไปเที่ยวบ้างตามโอกาส เป็นต้น อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว