กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--THEBIGPOTTER
มูลนิธิโครงการหลวงผนึกสมาคมอารักขาพืชไทย เดินหน้าให้ความรู้การใช้สารอารักขาพืชอย่างถูกต้องปลอดภัยแก่เกษตรกรพื้นที่สูง ในกลุ่มผักผลไม้เมืองหนาว ตั้งเป้าสิ้นปีเกษตรกรได้รับรองมาตรฐานGlobal GAP 90%รองรับตลาดลูกค้านำมาตรฐานของ EU มาใช้ระบบนำเข้า-ส่งออก
นางชุติมา รัตนเสถียร ผู้อำนวยการสมาคมอารักขาพืชไทย เปิดเผยถึงความร่วมมือกับมูลนิธิโครงการหลวง ภายใต้โครงการฝึกอบรมเกษตรกรเชิงปฏิบัติการ ในเรื่องการใช้สารกำจัดศัตรูพืช เครื่องพ่นสารกำจัดศัตรูพืชและอุปกรณ์ป้องกันที่ถูกต้องและปลอดภัย ให้แก่เกษตรกร สมาชิกของมูลนิธิโครงการหลวงในพื้นที่จ.เชียงใหม่ โดยมีเกษตรกรในโครงการเกษตรพันธสัญญา หรือ Contact Farmingจำนวน250 ราย จากศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 4 สถานีในพื้นที่จ.เชียงใหม่เข้าร่วมรับการอบรม
การลงพื้นที่ให้ความรู้แก่เกษตรกรภายใต้โครงการครั้งนี้ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้สารอารักขาพืช อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เครื่องฉีดพ่นสารอารักขาพืชรวมถึงการใช้สารอารักขาพืชอย่างเข้าใจ ถูกต้อง ปลอดภัยแก่เกษตรกรที่ผลิตผักและผลไม้เมืองหนาวในมูลนิธิโครงการหลวง จาก 4 ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง ประกอบด้วย ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง แม่สาใหม่- หนองหอย ,ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก,ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง ทุ่งหลวงและศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ ที่เดิมเกษตรกรเหล่านี้ผลิตภายใต้มาตรฐาน GAPหรือมาตรฐานการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช แต่เนื่องจากแนวโน้มของตลาดพืชผักและผลไม้เมืองหนาว ของไทยในปัจจุบัน ลูกค้าหลายรายได้มีการนำเอามาตรฐาน Global GAPเข้ามาเป็นเกณฑ์ในการประเมินตรวจรับสินค้า ที่จะซื้อจากโครงการหลวง โดยเป็นระบบมาตรฐานการเกษตร ที่เข้มงวดขึ้นกับระบบการบริหารจัดการภายในฟาร์ม ที่ต้องปลอดภัยสำหรับผู้ผลิต สิ่งแวดล้อม และผู้บริโภค มากขึ้น เช่น มีการกำหนดไม่ให้ใช้สารอารักขาพืชที่เป็นอันตรายเกินกำหนด หรือไม่ให้ใช้สารต้องห้ามในการผลิต การจัดการกับบรรจุภัณฑ์สารอารักขาพืชอย่างถูกต้องไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม การดูแลคนงานในฟาร์มให้มีคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยในการผลิต ตลอดจนการคัดผลิตภัณฑ์เพื่อบรรจุให้ได้มาตรฐานสากล เป็นต้น
ซึ่งภายใต้การอบรมครั้งนี้กำหนดระยะเวลาการอบรมตลอดเดือนกันยายน ให้ เกษตรกรสมาชิกของทั้ง 4 ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงที่มีความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับมาตรฐานการผลิตพืช GAP ดีอยู่แล้ว แต่การอบรมภายใต้โครงการนี้จะเพิ่มระดับความเข้มข้นของเงื่อนไขการปฏิบัติในระดับฟาร์มมากยิ่งขึ้น เช่น การใช้มาตรฐานการผลิตแบบผสมผสานหรือ IPM เพื่อการผลิตที่ปลอดภัย การตัดสินใจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สารอารักขาพืชให้เหมาะกับโรค อาการ ในระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเก็บเกี่ยว ตลอดจนการดูแลการเก็บทำลายบรรจุภัณฑ์สารอารักขาพืชที่ปลอดภัย ตรวจสอบได้ รวมถึงการใช้อุปกรณ์ป้องกันในการใช้สารอารักขาพืชที่เหมาะสมกับเกษตรกรพื้นที่สูง ซึ่งมีความกดอากาศต่ำกว่าพื้นที่ราบ หายใจลำบาก และปัจจุบันมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น โดยวิศวะกรผู้เชียวชาญด้านอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล จาก บริษัท 3-เอ็ม ประเทศไทย จำกัดเพื่อเกษตรกรสามารถประยุกต์ใช้อุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม หรือการปรับพฤติกรรมการใช้สารอารักขาพืชที่ซ้ำซาก โดยไม่มีการสลับสับเปลี่ยน อันเป็นต้นเหตุของการดื้อของโรคและแมลงในพื้นที่ ที่ถูกต้องปรับเปลี่ยนชนิดของสารอารักขาพืชทุกรอบของการผลิตตามวงจรของพืชแต่ละชนิด หรือในเวลาที่เหมาะสมเพื่อป้องการการดื้อยาของโรคและแมลงช่วยลดต้นทุนการผลิต เป็นต้น
ซึ่งหลังจากการฝึกอบรมดังกล่าว จะมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบประเมินการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตของเกษตรกรให้เป็นไปตามมาตรฐาน Global GAP ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิโครงการหลวง เจ้าหน้าที่จากสมาคมอารักขาพืช เพื่อตรวจประเมินเบื้องต้น ก่อนที่หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการออกเครื่องหมายรับรอง Global GAP จะเข้ามาตรวจประเมินก่อนออกใบรับรอง โดยตั้งเป้าให้เกษตรกร 200 คนผ่านการรับรองมาตรฐานดังกล่าว เพื่อให้ผลผลิตผักและผลไม้เมืองหนาวของไทยเป็นที่ต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น