กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--มายด์ พีอาร์
หากนิวซีแลนด์ในความคิดของคุณ หมายถึง ประเทศเกษตรกรรม ทุ่งหญ้า ฝูงแกะ และธรรมชาติที่เขียวขจีเท่านั้น ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้อง "คิดใหม่" เพราะประเทศนิวซีแลนด์ในวันนี้ก้าวไปไกลกว่าการเป็นผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์จากนม ผลไม้ และการท่องเที่ยว แต่คือหนึ่งในผู้นำระบบการศึกษาที่ได้รับการยอมรับจากสถาบันทางวิชาการทั่วโลก
การที่ทุกมหาวิทยาลัยในนิวซีแลนด์ติดท็อป 500 จากการจัดอันดับ QS World University Rankings ประจำปี 2558 ผลการประเมิน OECD 2013 Better Life Index ซึ่งจัดอันดับคุณภาพของระบบการศึกษานิวซีแลนด์ไว้ในระดับต้น ๆ หรือผลการทดสอบ PISA (Program For International Student Assessment) ครั้งล่าสุด ชี้ให้เห็นว่า นักเรียนนิวซีแลนด์มีความรู้รอบตัวในระดับสูง ทั้งหมดนี้ย่อมการันตีถึงคุณภาพการศึกษาของนิวซีแลนด์ได้เป็นอย่างดี
มร. รูเบน เลฟเวอร์มอร์ เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า นิวซีแลนด์เป็นประเทศน้องใหม่ที่อายุยังน้อย และเป็นประเทศเล็กที่มีประชากรเพียง 4.5 ล้านคน การเป็นประเทศเล็กทำให้เราต้องใช้พลังความคิดสร้างสรรค์มากกว่าประเทศที่โตกว่า ซึ่งกลายเป็นข้อดีที่ทำให้เราโฟกัสในสิ่งที่เป็นจุดแข็งหรือความถนัดที่แท้จริงของเรา เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน โดยปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่เอื้อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ได้แก่ สภาพความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพ ระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ และการให้ความสำคัญกับหลักสูตรวิชาชีพเฉพาะทางเพื่อส่งเสริมและเติมเต็มความรู้ที่ประเทศอื่นๆ ยังไม่มี นอกจากนี้ การที่นิวซีแลนด์เป็นประเทศที่เปิดรับผู้คนต่างเชื้อชาติ ต่างวัฒนธรรม ได้ช่วยหล่อหลอมให้ผู้ที่มาเรียนที่นิวซีแลนด์มีความคิดที่เปิดกว้างต่อความแตกต่างและหลากหลายเป็นอย่างดี ตลอดจนพร้อมที่จะเรียนรู้ริเริ่มสิ่งใหม่ เพื่อนำไปปรับใช้ในการเรียน การทำงาน หรือการดำรงชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"ตลอดระยะเวลา 40 ปี ที่นิวซีแลนด์และอาเซียนดำเนินความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันในด้านต่างๆ เราได้ทำงานร่วมกับประเทศในอาเซียนด้านการศึกษาอย่างใกล้ชิดผ่านหน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ อาทิ การให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนในประเทศอาเซียนมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 มอบทุนทั้งสิ้นกว่า 200 ทุน และมีแผนจะมอบทุนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี สำหรับในประเทศไทย หน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์จัดนิทรรศการการศึกษานิวซีแลนด์ ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 21 แล้ว เพื่อให้คำแนะนำนักเรียนนักศึกษาไทยที่วางแผนไปศึกษาต่อต่างประเทศ พร้อมทั้งยังมีโครงการความร่วมมือต่างๆ เช่น คอร์สแลกเปลี่ยนด้านการศึกษา การพัฒนางานวิจัยให้สามารถต่อยอดไปสู่การใช้งานได้จริงในภาคธุรกิจ เป็นต้น"
ปัจจุบัน หน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลนิวซีแลนด์ให้ขยายมูลค่าตลาดการศึกษาในกลุ่มนักเรียน นักศึกษาต่างชาติอีก 200% จากมูลค่าปัจจุบันที่ 2.5 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ ภายในปี 2568 โดยมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนโครงการต่างๆ การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ดูแลกิจกรรมด้านการตลาดทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น นิทรรศการการศึกษา งานเสริมสร้างความสัมพันธ์กับตัวแทนการศึกษา แคมเปญการตลาดในสื่อทั่วไปและสื่อดิจิทัล และงานด้านประชาสัมพันธ์ ซึ่งรวมถึงการเชิญนักข่าวร่วมเดินทางไปดูงาน และสัมผัสคุณภาพการศึกษาระดับสูงของโรงเรียน มหาวิทยาลัย และสถาบันอาชีวศึกษา ในนิวซีแลนด์โดยตรง ตลอดจนให้การสนับสนุนสถาบันการศึกษาในประเทศนิวซีแลนด์ในการสร้างสัมพันธภาพกับสถาบันการศึกษาในแต่ละประเทศผ่านความร่วมมือด้านการศึกษา โครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนหรือเจ้าหน้าที่ การจัดคอร์สระยะสั้นหรือการศึกษาดูงาน การพัฒนาความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และการแลกเปลี่ยนครูผู้สอนกับต่างประเทศ
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยในนิวซีแลนด์ยังให้ความสำคัญในการผลิตงานวิจัยเป็นอย่างมาก โดยราว 1 ใน 3 ของงานวิจัยและนักวิจัยส่วนใหญ่ในประเทศนิวซีแลนด์มาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยทางมหาวิทยาลัยจะมีกิจกรรมด้านการวิจัยที่มีงบประมาณรวมกันถึง 350 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ต่อปี นำโดยมหาวิทยาลัยโอทาโก ซึ่งนักวิจัยเพิ่งได้รับทุนสนับสนุนกว่า450,000 ดอลลาร์นิวซีแลนด์เมื่อต้นปีที่ผ่านมาจากสภาวิจัยด้านสุขภาพแห่งประเทศนิวซีแลนด์ (Health Research Council of New Zealand) เพื่อทำงานวิจัยยาต้านวัณโรค ในประเทศอินโดนีเซียและเมียนมา เป็นต้น
ก้าวสู่ผู้นำใหม่ด้านการศึกษาเฉพาะทางแบบ "รู้รอบ รู้ลึก"
ในปี 2557 ที่ผ่านมา มีนักเรียนกลุ่มประเทศอาเซียนศึกษาอยู่ในนิวซีแลนด์รวมทั้งสิ้นกว่า 10,000 คน เป็นนักเรียนไทยมากถึง 3,692 คน ซึ่งถือว่ามากที่สุดในบรรดาประเทศอาเซียนด้วยกัน โดยนักเรียนไทยศึกษาในประเทศนิวซีแลนด์ทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา อุดมศึกษา และคอร์สสั้นๆ เช่น คอร์สพัฒนาภาษาอังกฤษ โดยสาขาที่คนไทยนิยมศึกษาต่อ ได้แก่ รัฐศาสตร์ กฎหมาย การบริหารธุรกิจ วิทยาศาสตร์กายภาพและชีวภาพ ศิลปะ และไอที อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2557-2558 ที่ผ่านมา โปรแกรมการศึกษาที่นักเรียนไทยให้ความสนใจมากขึ้น คือ วิศวกรรม การออกแบบสื่อ กฎหมาย และการท่องเที่ยว
คุณช่อทิพย์ ประมูลผล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ หน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทย กล่าวถึงจุดเด่นของระบบการศึกษาของนิวซีแลนด์ว่า "เป็นการศึกษาแบบเปิดกว้าง ที่กระตุ้นให้ผู้เรียนก้าวออกจากกรอบเดิมๆ และเรียนรู้ที่จะคิดมุมใหม่ เสริมสร้างทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ โดยไม่ละเลยการเพิ่มขีดความสามารถทางภาษา ซึ่งนอกจากการเรียนทฤษฎีแล้วยังเน้นการฝึกงานภาคปฏิบัติ เพื่อเตรียมความพร้อมทุกๆ ด้านให้กับผู้เรียนก่อนก้าวสู่ตลาดงานในทุกที่ทั่วโลกอย่างมั่นใจ"
คุณภาพการศึกษาของนิวซีแลนด์ได้รับการยอมรับในระดับสากล เพราะนอกจากมหาวิทยาลัยทุกแห่งในนิวซีแลนด์จะติดอันดับท็อป 500 ของโลกแล้ว หลากหลายสาขาวิชายังโดดเด่นติดอันดับต้นๆ ของโลกเช่นกัน อาทิ สาขาวิชาพัฒนาการศึกษา ครุศาสตร์ วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมโครงสร้าง ตลอดจนหลักสูตรวิชาชีพเฉพาะทางอย่างทันตแพทย์ และจิตวิทยา
นิวซีแลนด์ยังมุ่งเน้นการสร้างหลักสูตรวิชาชีพเฉพาะทาง (Niche Course) เพื่อต่อยอดการทำงานในอนาคต ตัวอย่างเช่น หลักสูตรเฉพาะทางธุรกิจการเกษตรที่พัฒนามารองรับการเติบโตของตลาดอุตสาหกรรมนม และเนื้อสัตว์ ซึ่งกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากร นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรวิชาชีพเฉพาะทางและหลักสูตรอาชีวศึกษาที่เอื้อต่อการประกอบอาชีพด้านต่าง ๆ ที่น่าสนใจ อาทิ เทคโนโลยีอาหารและสิ่งทอ ธุรกิจโรงแรม การศึกษาปฐมวัย ภาพยนตร์ อนิเมชั่น (Animation)วิช่วลเอฟเฟค (Visual Affect) โปรแกรมความปลอดภัยด้านไซเบอร์ (Cyber Security) การจัดการการกีฬา ซึ่งนักเรียนจะได้รับโอกาสในการฝึกงานจริงในองค์กรธุรกิจด้านนั้น ๆ
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของสิทธิประโยชน์ทางการศึกษาที่ผู้เรียนจะได้รับ เช่น มาตรฐานการดูแลสวัสดิภาพของนักเรียนนักศึกษานานาชาติซึ่งมีความปลอดภัยสูงมาก โอกาสการทำงานที่นักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาสามารถเลือกทำงานบางช่วงเวลา หรือทำงานเต็มเวลาในขณะที่ศึกษาอยู่ หรือเมื่อเรียนจบได้ตามที่กฎหมายกำหนด เป็นต้น
คุณช่อทิพย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "สิ่งที่ทำให้ระบบการศึกษานิวซีแลนด์โดดเด่นจากที่อื่น คือ การที่นักเรียนนักศึกษาได้มีโอกาสพบกับผู้มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในแวดวงอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งได้ผ่านการฝึกงานซึ่งถูกบรรจุไว้เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมการศึกษา นอกจากนี้ การที่คณาจารย์ในสาขาต่างๆ เป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละอุตสาหกรรมนั้น ก็ช่วยเตรียมให้นักเรียนนักศึกษามีความพร้อมในการก้าวสู่เส้นทางอาชีพที่ใฝ่ฝันและประสบความสำเร็จในที่สุด ตัวอย่างเช่น มร.โรเบิร์ต บราวน์ ผู้อำนวยการภาควิชาภาพยนตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์และการสื่อสาร (Director of Filmaking - Centre for Science and Communications) จากมหาวิทยาลัยโอทาโก หนึ่งในช่างภาพชั้นนำของโลกซึ่งเชี่ยวชาญการถ่ายภาพพฤติกรรมสัตว์ และได้ทำงานร่วมกับท่านเซอร์เดวิด แอนเทนโบโร ในซีรีย์สารคดีชุด The Living Planet ช่องดิสคัฟเวอรี่ และเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก หรือ มร.เรย์ แมควินนีย์ อาจารย์ด้านศาสตร์การทำอาหาร คณะการโรงแรมและการท่องเที่ยว (School of Hospitality and Tourism) มหาวิทยาลัย AUT ซึ่งเคยร่วมเป็นกรรมการในรายการมาสเตอร์ เชฟ นิวซีแลนด์ ช่วงปี 2554-2557 หรือ ดร.ไรอัน โค หัวหน้าภาควิชาความปลอดภัยบนไซเบอร์ (Head of Cyber Security) มหาวิทยาลัยไวกาโต อดีตนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชั้นนำของห้องวิจัยด้านคลาวด์และความปลอดภัย บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด (Hewlett-Packard (HP) Labs' Cloud and Security Lab) และเป็นผู้ค้นพบวิธีติดตามแหล่งที่มาของข้อมูลบนคลาวด์ (cloud data provenance tracking) ซึ่งถูกนำไปใช้ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ด้านความปลอดภัยที่ใช้งานอยู่ภายในหน่วยงานภาครัฐ และลูกค้าของเอชพีทั่วโลก"
นอกจากนี้ ผู้ที่จบการศึกษายังมีโอกาสเข้าร่วมสมาคมนักเรียนเก่านิวซีแลนด์ ซึ่งรวบรวมศิษย์เก่ากว่า 4,000 คน ทั้งนักเรียนทุนรัฐบาลไทย ทุนของนิวซีแลนด์ รวมถึงศิษย์เก่าที่ทำงานในองค์กรชั้นนำต่างๆ ของโลกที่พร้อมให้ความช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาจบใหม่ให้สามารถเข้าถึงผู้มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในวงการต่างๆ ได้
ทำไมต้อง...นิวซีแลนด์
คุณเฉกชนก สุนทรศารทูล ผู้จัดการด้านนโยบายและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท บีจีกรุ๊ปแห่งสหราชอาณาจักร เลือกที่จะส่งลูกชายไปศึกษาต่อนิวซีแลนด์เพราะสามารถตอบโจทย์ได้ตรงจุด ทั้งในเรื่องระบบการศึกษาที่ท้าทายการใช้ความคิด ลูกมีเวลามากขึ้นในการเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมสันทนาการแทนที่ต้องติดอยู่บนท้องถนน และได้พัฒนาการใช้ภาษาอังกฤษ"ผมกับลูกดูกันมาหลายประเทศจนมาลงตัวที่นิวซีแลนด์ พอไปสัมผัสจริงๆ ก็รู้สึกประทับใจไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความปลอดภัย คุณภาพชีวิต คุณภาพการศึกษาที่อยู่ในระดับสูงกว่าหลายประเทศ ถ้าเทียบกับความคุ้มค่าทางการศึกษา ผมถือว่าทุกอย่างลงตัวกับงบประมาณที่มี"
เมื่อถามถึงเหตุผลในการไปศึกษาต่อปริญญาเอกที่นิวซีแลนด์ของ ดร. ฉัตรชัย ธนาฤดี ผู้บริหารฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ประจำประเทศไทย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ก็ได้รับคำตอบที่สั้นแต่ชัดเจนว่า เป็นเพราะเขา "เอาจริง" ยกตัวอย่างเรื่องความปลอดภัยไซเบอร์ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญโดยกำหนดเป็นนโยบายระดับประเทศ และมหาวิทยาลัยเป็นผู้ออกแบบหลักสูตรการศึกษาเพื่อสอดรับกับนโยบาย รวมถึงจัดตั้งศูนย์วิจัย (Research Center) เพื่อทำการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างจริงจัง ซึ่งนิวซีแลนด์จะให้ความสำคัญกับการตั้งศูนย์วิจัยด้านต่างๆ เช่น การแพทย์ การเกษตร เพื่อให้ผู้เรียนได้รับความรู้ทั้งในภาคทฤษฎี ผ่านการฝึกปฏิบัติ และจบการศึกษาไปอย่างผู้ที่มีความสามารถรอบด้านพร้อมทำงานทั้งในภาครัฐและเอกชน "แม้นิวซีแลนด์จะเป็นประเทศเล็กและใหม่ แต่สามารถผสมผสานเทคโนโลยีและเกษตรกรรมได้อย่างลงตัว การศึกษาต่อที่นี่ยังช่วยเปิดโลกทัศน์ให้ผมเข้าใจถึงความสัมพันธ์ที่หลากหลายของผู้คนต่างเชื้อชาติ ต่างวัฒนธรรม ได้ฝึกฝนความคิด รู้จักตั้งคำถาม และเชื่อมโยงความรู้เข้ากับโลกเพื่อให้เห็นภาพรวมที่ชัดเจนมากขึ้น"
คุณทศธรรม เปี่ยมสมบูรณ์ พิธีกรและนักแสดง และศิษย์เก่าอีกท่านหนึ่ง กล่าวถึงนิวซีแลนด์ว่า เป็นประเทศที่ "Clean and Green" คือ มีสภาพแวดล้อมที่ดี เป็นธรรมชาติ ความปลอดภัยสูง ค่าครองชีพถูก การเดินทางสะดวก คนนิวซีแลนด์เป็นคนดี ใจกว้าง และพร้อมที่จะดูแลช่วยเหลือโดยไม่มองว่าเราเป็นนักเรียนต่างชาติ การเข้าร่วมชมรมหรือกิจกรรมนอกห้องเรียนอื่น ๆ ก็มีให้เลือกตามความชอบ ความที่นิวซีแลนด์เป็นประเทศที่มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาตินั้นมีส่วนช่วยปรับเปลี่ยนความคิดให้เปิดกว้างต่อสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่าง "ผมรับประกันได้ว่า ผู้ที่จบจากนิวซีแลนด์สามารถไปทำงานได้ทุกที่ เพราะคุณภาพการศึกษาที่เป็นมาตรฐานและได้รับการยอมรับจากทั่วโลก"
หากคุณกำลังมองหาการศึกษาที่จุดประกายให้คุณ "คิดใหม่" และการเรียนรู้ชีวิตจากมุมมองใหม่ๆ ประเทศนิวซีแลนด์เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.studyinnewzealand.com/