กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--คาร์ล บายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์
บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกลุ่มเมกเกอร์ในประเทศไทย จัดงาน Bangkok Mini Maker Faire มหกรรมแสดงผลงานและสิ่งประดิษฐ์ของ "เมกเกอร์" หรือผู้ที่ชอบสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง ครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและส่งเสริมวัฒนธรรมทำเองในสังคมไทย ในระหว่างวันที่ 26 ถึง 27 กันยายน 2558 ณ ลานหน้าฮาร์ดร็อค สยาม สแควร์ ซอย 11 กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เวลา 11.00 -19.00น. โดยเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมฟรีตลอดงาน
นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เปิดเผยว่า "งาน Bangkok Mini Maker Faire เป็นหนึ่งกิจกรรมสำคัญภายใต้โครงการ Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ที่ต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนในสังคม ทั้งเยาวชน ผู้ปกครอง และบุคคลทั่วไป เห็นว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นเรื่องสนุก เป็นเรื่องใกล้ตัว และเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเราทุกคน เพื่อสร้างการรับรู้ กระตุ้น และส่งเสริมให้เยาวชนทั่วและบุคคลทั่วไป เกิดแรงบันดาลใจและความสนใจต่อการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็ม (STEM) เพิ่มมากขึ้น โดยเชฟรอนและ สวทช. เล็งเห็นว่าในยุคที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิตัลและสังคมแห่งนวัตกรรม ซึ่งขีดความสามารถของประเทศขึ้นอยู่กับความสามารถในการพัฒนาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ งานฝีมือ หรือแม้แต่การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับธุรกิจ ซึ่งไม่ควรจำกัดอยู่แค่ในวงการของนักวิจัย นักวิชาการ หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเท่านั้น กลุ่มเมกเกอร์จึงเป็นหนึ่งในรากฐานที่สำคัญของการเสริมสร้างขีดความสามารถดังกล่าวในวงกว้าง"
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า "การเป็นเมกเกอร์ไม่ใช่เพียงแค่งานอดิเรก แต่ผลงานของเมกเกอร์สามารถต่อยอดเป็นธุรกิจสร้างรายได้ เพราะสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละคนหรือแต่ละกลุ่ม ซึ่งการผลิตสินค้าแบบอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมากแบบเดิมๆ ทำไม่ได้ วัฒนธรรมทำเอง (Maker Culture) เป็นสิ่งที่ควรได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังเพราะเป็นตัวจุดประกายให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ อันเป็นพื้นฐานของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตที่กำลังเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิตัล ซึ่งเป็นยุคที่ต้องการผู้ที่มีความสามารถในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีต่างๆ ด้วยเหตุนี้วัฒนธรรมเมกเกอร์ที่แข็งแรงจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน"
ดร. ชานนท์ ตุลาบดี CEO และผู้ก่อตั้งบริษัทกราวิเทคไทย และ Home of Maker ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่ม เมกเกอร์ที่เป็นคณะกรรมการจัดงาน Bangkok Mini Maker Faire กล่าวว่า "ในประเทศไทย ขบวนการเมกเกอร์เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากจำนวนของ 'เมกเกอร์สเปซ' (Maker Space) หรือพื้นที่ทำงานร่วมกับของเมกเกอร์ ตลอดจนกิจกรรมให้ความรู้ และเวิร์กชอป ซึ่งมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในกรุงเทพและจังหวัดอื่นๆ อย่าง Home of Maker ก็ถือเป็นหนึ่งในเมกเกอร์สเปซที่เปิดโอกาสให้เมกเกอร์สามารถเข้ามาใช้งาน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ อย่างไรก็ดีความสนใจในเรื่องนี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายและจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มเท่านั้น จึงนับเป็นเรื่องน่ายินดีที่เชฟรอน และ สวทช. เล็งเห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนเมกเกอร์ในประเทศไทย ด้วยการจัดงาน Bangkok Mini Maker Faire ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เปิดพื้นที่ให้เมกเกอร์ได้แสดงผลงาน อีกทั้งยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นของผู้ที่สนใจในด้านนี้ ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจและจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้แก่ผู้เข้าชม ช่วยให้วัฒนธรรมทำเองเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น"
คุณไพโรจน์ กล่าวต่อไปว่า "อันที่จริงคนไทยเป็นเมกเกอร์กันมานานแล้ว และทำได้ดีมากด้วย ดังจะเห็นได้จากภูมิปัญญาชาวบ้าน และเทคโนโลยีชาวบ้านที่คนไทยรู้จักดัดแปลงและสร้างสิ่งต่างๆ เพื่อใช้ในการทำงานและในชีวิตประจำวัน ดังนั้น หากเรามีการส่งเสริมให้วัฒนธรรมทำเองเป็นที่แพร่หลาย ตลอดจนให้คนไทยมีความรู้ความเข้าใจและสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ ที่เมกเกอร์นิยมใช้กัน อาทิ เครื่องพิมพ์สามมิติ เครื่องตัดเลเซอร์ ผมเชื่อว่าเรามีศักยภาพที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาได้อีกมาก ส่งผลให้เกิดการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของโครงการ Enjoy Science สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต"
มหกรรม Bangkok Mini Maker Faire จัดแสดงผลงานของเมกเกอร์จากทั่วประเทศ ทั้งยังมีกิจกรรมและเวิร์ก ชอปให้ผู้เข้าชมได้ลงมือทำด้วยตัวเอง อาทิ การประกอบเครื่องพิมพ์สามมิติจากชิ้นส่วนวัสดุเหลือใช้ หรือการแข่งขันหุ่นยนต์เห่ย ไปจนถึงการเสวนาสร้างแรงบันดาลใจ โดยมีกลุ่มเมกเกอร์และเมกเกอร์สเปซจากทั่วประเทศเข้าร่วมงาน อาทิ Maker Zoo, Home of Maker, PINN Creative Space, Fab Cafe, TRIBES, Ne8T, Maker Asia, iNex เชียงใหม่เมกเกอร์คลับ และภูเก็ตเมกเกอร์คลับ เป็นต้น
นอกจากนั้นทางเชฟรอนและสวทช. ยังร่วมกันประกาศผลการประกวดการออกแบบจากเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ จากโครงการ Enjoy Science: Let's Print the World พร้อมจัดแสดงผลงานของผู้ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายภายในงานอีกด้วย โดยนางสาว ศิริลักษณ์ สังวาลวรวุฒิ ได้รับรางวัลชนะเลิศในสาขานักเรียนนักศึกษา จากผลงาน "ปะการังเทียม" และนางสาว เสาวคนธ์ ภุมมาลีชนะในสาขาบุคคลทั่วไป จากผลงาน "ทศกัณฐ์" โดยผู้ชนะทั้ง 2 ได้รับชุด 3D Printer & Scanner มูลค่า 100,000 บาท และจะได้ไปร่วมงาน Maker Faire Berlin ที่ประเทศเยอรมนี ในเดือนตุลาคม เพื่อเปิดโลกทัศน์ในเรื่องของการสร้างสรรค์นวัตกรรมรูปแบบต่างๆ จากนักประดิษฐ์และนักออกแบบระดับโลกเพื่อนำประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้กลับมาช่วยพัฒนางานด้านการพิมพ์แบบสามมิติ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่สนใจต่อไปอีกด้วย