กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--มาสเตอร์โพล
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน(Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) ร่วมกับ นายศรัณย์พงศ์ ฟุ้งเกียรติ นักศึกษาปริญญาเอก สาขาอาชญาวิทยาและกระบวนการยุติธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล และมาสเตอร์โพล (Master Poll) เปิดเผยผลวิจัยเชิงคุณภาพ เรื่องชี้ช่องไทยหลุดพ้นเทียร์ 3 สู่ผู้นำอาเซียนต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ด้วยการค้นคว้าวิจัยเอกสาร สัมภาษณ์เจาะลึกบุคคลกุญแจสำคัญ และผลงานวิจัยก่อนหน้านี้ดำเนินโครงการในวันที่ 1 - 28 กันยายน พ.ศ. 2558 พบว่า
ประเทศไทยยังคงถูกจัดอันดับต่ำสุดคือ อยู่ในกลุ่มเทียร์ 3 ของการแก้ปัญหาค้ามนุษย์เพราะประเทศไทยยังขาดข้อมูลชี้สถานการณ์ภาพใหญ่ของประเทศที่น่าเชื่อถือว่า มีเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์จำนวนเท่าไหร่ ทำให้องค์การระหว่างประเทศหันไปเชื่อข้อมูลของฝ่ายตรงข้ามกับประเทศไทยที่ออกมาแฉข้อมูลบางส่วนแต่ประกาศ "เหมารวมสิ่งเลวร้าย" นำไปอ้างอิงทำลายประเทศไทย โดยชี้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศต้นทาง แหล่งค้าและเป็นทางผ่าน มีแรงงานทาส แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ การหลอกลวงค้าประเวณี แรงงานขัดหนี้ ที่เหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์หลายรายเข้าพึ่งหน่วยงานรัฐต่างๆ แบบไร้ทิศทางตามยถากรรม มีการรับเรื่องบ้างไม่รับเรื่องบ้าง ผลักภาระให้ญาติพี่น้องของเหยื่อไปจัดการเองบ้าง และหน่วยงานรัฐจำนวนมากต่างถือกฎหมายถืออำนาจเอาไว้ในมือของตนเอง มีการตั้งคณะกรรมการจำนวนมากเป็นกรรมการผ้าป่ากฐินที่มักจะเปลี่ยนแปลงไปตามวาระของรัฐบาลในอดีต จึงเสนอให้รัฐบาลนี้มีการตั้งองค์กรถาวรต่อต้านการค้ามนุษย์ที่เป็นหลักตั้งแต่ต้นทางปัญหาถึงปลายทางปัญหาด้วยการค้นหาข้อมูล กำหนดยุทธศาสตร์ เขียนนโยบายและแปลงสู่ภาคปฏิบัติต่อต้านการค้ามนุษย์
ปัญหาการค้ามนุษย์เกิดขึ้นมาในอดีตหลายรัฐบาลที่ผ่านมา ส่งผลให้ปัญหาการค้ามนุษย์ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์จากขบวนการค้ามนุษย์ โดยมีข้อมูลในปี พ.ศ. 2550 จากหน่วยงานราชการว่า มีชาวต่างชาติตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์จำนวน 363 คนได้รับการช่วยเหลือและให้ที่พักพิง แต่เป็นตัวเลขที่องค์การระหว่างประเทศตั้งข้อสังเกตว่าต่ำกว่าความเป็นจริง จึงทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นอย่างต่อเนื่องขององค์การระหว่างประเทศต่อข้อมูลสถิติเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ของทางการไทยและองค์การระหว่างประเทศได้ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลไทยในอดีตแทบจะไม่เคยดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐได้เลย
รัฐบาลชุดปัจจุบันได้เข้ามาประกาศให้การต่อต้านการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติและเร่งจัดการระบบฐานข้อมูลทางสถิติจึงทำให้มีตัวเลขรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ในทางสถิติต่างๆ มากกว่าอดีตที่ผ่านมา เช่น ในปี 2557 เจ้าหน้าที่รัฐรวม 19 นายถูกดำเนินคดีทั้งทางอาญาและวินัย มีคนไทยและต่างชาติเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ 595 คน จึงเห็นได้ว่า ตัวเลขสถิติเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ได้ถูกเปิดเผยออกมามากขึ้น แต่การให้ความหมายของคำว่า เหยื่อค้ามนุษย์ และระบบการคัดแยกเหยื่อของทางการไทย กับ องค์การระหว่างประเทศยังมีช่องว่างอยู่มาก โดยองค์การระหว่างประเทศมองว่า ทุกคนตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ได้ทั้งสิ้นไม่ว่าจะสมัครใจหรือไม่ก็ตาม ยิ่งถ้าไปดูวิธีการคัดกรองเหยื่อของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติในระดับพื้นที่ที่ขาดการควบคุมที่ดี เช่น เวลามีการจับกุมแรงงานต่างด้าวที่หนีเข้าเมืองที่สถานีตำรวจ ยิ่งพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐกลัวว่าจะมีเหยื่อค้ามนุษย์ในพื้นที่ที่จะมีผลทำให้ถูกโยกย้ายหรือถูกลงโทษทางปกครอง และจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการพบว่า ยังคงมีหน่วยงานของรัฐไปเรียกเก็บเงินรายเดือนจากผู้ประกอบการที่มีการใช้แรงงานต่างด้าว โดยข้อเท็จจริงเหล่านี้ รัฐบาลนี้ต้องเร่งจัดการ
"ล่าสุด การที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปแสดงจุดยืนของประเทศไทยในการต่อต้านการค้ามนุษย์บนเวทีสหประชาชาติและแสดงให้เห็นความพยายามของรัฐบาลไทยในการทำลายขบวนการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบ เป็นผลดีต่อประเทศไทยในการปกป้องรักษาผลประโยชน์ชาติและผลประโยชน์ของประชาชนทุกคนเอาไว้เพราะถ้ารัฐบาลไทยไม่แสดงจุดยืนนั้น คู่แข่งทางการค้าของประเทศไทยจะยกปัญหาการค้ามนุษย์ขึ้นมารณรงค์ให้ผู้บริโภคในต่างประเทศต่อต้านสินค้าไทยทำให้มูลค่าการค้าของประเทศไทยประมาณ 4 แสนล้านบาทได้รับผลกระทบในตลาดการค้าสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปและจะส่งผลกระทบมายังเงินในกระเป๋าของคนไทยทุกคนตามไปด้วย" ดร.นพดล กล่าว
ขณะที่ นายศรัณย์พงศ์ ฟุ้งเกียรติ นักวิจัย กล่าวถึงผลวิจัยเชิงคุณภาพครั้งนี้ว่า ในปี พ.ศ. 2554 ผลการศึกษาที่อยู่ในรายงานของ UNIAP ระบุถึงสภาพแรงงานทาสและแรงงานขัดหนี้ในกลุ่มแรงงานกัมพูชาและเมียนมาในอุตสาหกรรมประมงไทยถูกบังคับให้ทำงานวันละ 18 – 20 ชั่วโมง ถูกทุบตี ข่มขู่ และมีการฆ่าคนงานโยนทิ้งทะเล นอกจากนี้ ล่าสุดเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีรายงานของนักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยลอนดอน ได้เผยแพร่ว่า มีการใช้แรงงานเด็กที่รับค่าจ้างและไม่ได้เรียนหนังสือสูงถึงร้อยละ 40 ในอุตสาหกรรมประมงของไทยโดยมีการเผยแพร่ออกไปเป็นภาษาต่างประเทศอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าประมงของไทยในอนาคตอันใกล้นี้ได้
นายศรัณย์พงศ์ กล่าวต่อว่า ผลวิจัยครั้งนี้ยังค้นพบด้วยว่า ประชาชนคนไทยและชาวต่างชาติบางส่วนที่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์วิ่งหาองค์กรต่างๆ และหน่วยงานราชการแบบไร้ทิศทางชัดเจนในการช่วยเหลือพวกเขาเหล่านั้น เช่น ขอความช่วยเหลือไปที่กระทรวงแรงงานบ้าง กระทรวงพัฒนาสังคมฯ บ้าง ตำรวจบ้าง กระทรวงต่างประเทศบ้าง มหาดไทยบ้าง สำนักข่าวต่างๆ บ้าง และมูลนิธิฯ ต่างๆ บ้าง จะเห็นได้ว่าเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ขาดองค์กรหลักและไร้ทิศทางในการเข้าขอความช่วยเหลือและบางครั้งถูกทอดทิ้ง เพราะรัฐบาลไทยยังคงขาดองค์กรถาวรหลักในการรองรับปัญหาการค้ามนุษย์ และหากมองไปยัง กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ก็พบว่า กระทรวงพัฒนาสังคมฯ เกิดขึ้นมาเพื่อภารกิจต่างๆ มากมายที่เป็นภารกิจอื่นเพื่อคนไทย มิใช่เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาการค้ามนุษย์เพียงอย่างเดียว การให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นเจ้าภาพที่ขาดองค์กรถาวรมารองรับน่าจะมีข้อจำกัดมากและไม่ต่อเนื่องในการแก้ปัญหาได้
"ยิ่งไปกว่านั้น ผลวิจัยชิ้นนี้ยังพบด้วยว่า กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการค้ามนุษย์มีหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก เช่น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีหน่วยงานรัฐเกี่ยวข้องหลายหน่วยงานได้แก่ พม. ปปง. ดีเอสไอ ยธ. ตร. รง. กต. และ มท. เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายอื่นๆ ที่มีหน่วยงานรัฐแต่ละส่วนราชการที่เป็นอิสระจากกันถือเอาไว้แยกอีกต่างหาก เช่น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ที่มี ตร. มท. พม. เกี่ยวข้อง และมี พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานฯ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา และ พ.ร.บ. ควบคุมการขอทาน เป็นต้น รวมกฎหมายต่างๆ แล้วกว่า 25 ฉบับ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องถือกฎหมายกันไว้หลายสิบหน่วยงาน" นายศรัณย์พงศ์ กล่าว
ดร.นพดล กล่าวเสริมว่า รัฐบาลที่ผ่านๆ มาใช้คำสั่งตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่มักเรียกว่า "บูรณาการ" ในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยคำสั่งต่างๆ มีรายชื่อคณะกรรมการจำนวนมากยาวเหยียดคล้ายๆ คณะกรรมการผ้าป่ากฐินที่น่าจะขาดพลังในการขับเคลื่อน และคำสั่งต่างๆ เหล่านั้นไม่ยั่งยืนเปลี่ยนแปลงไปตามวาระของรัฐบาล ถ้ารัฐบาลใดให้ความสำคัญน้อยหน่วยงานรัฐก็มักจะส่งตัวแทนระดับล่างๆ เข้าร่วมปฏิบัติการ ส่งผลให้การทำงานแก้ปัญหาค้ามนุษย์ขาดประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ
ดร.นพดล กล่าวด้วยว่า ระบบและกลไกแก้ปัญหาค้ามนุษย์ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ถือว่าอยู่ในยุทธศาสตร์ที่ไม่ดี เพราะยุทธศาสตร์ที่ดีต้องชัดเจนเป็นหนึ่งเดียวกัน เข้าใจง่าย สอดคล้องกัน มีความต่อเนื่อง โดยเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับตั้งแต่สูงสุดจนถึงผู้ปฏิบัติและประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศต้องรู้ว่า เหตุปัจจัยคืออะไรและช่วยกันแก้ให้ตรงเหตุปัจจัยนั้น เมื่อเกิดปัญหาขึ้นใครเป็นผู้รับผิดชอบหลัก ที่เหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์จะไปขอความช่วยเหลือจากใครตั้งแต่ต้นทางของปัญหาจนถึงปลายทางของปัญหา
"โดยสรุป เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากเทียร์ 3 และสู่ความเป็นผู้นำของอาเซียนในการต่อต้านการค้ามนุษย์ ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์จึงเสนอรัฐบาลพิจารณา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือ ป.ป.ม. ขึ้นเป็นองค์กรถาวรทำงานเชิงยุทธศาสตร์เพื่อค้นหาข้อมูลสถานการณ์การค้ามนุษย์ที่แท้จริงมากำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายสาธารณะแปลงสู่ภาคปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง น่าจะช่วยลดความเคลือบแคลงสงสัยของต่างชาติ เสริมสร้างความน่าเชื่อถือของรัฐบาลและภาพลักษณ์ประเทศไทยที่จะสามารถต่อต้านขบวนการค้ามนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ" ผอ.ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ กล่าว