กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--กรีนพีซ
กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยการจัดอันดับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องฉบับแรกของประเทศไทย โดยระบุว่าผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องส่วนใหญ่ที่ขายในประเทศยังขาดมาตรฐานขั้นพื้นฐานว่าด้วยความยั่งยืน
รายงาน "จากทะเลสู่กระป๋อง: การจัดอันดับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องในไทย" ได้ประเมินแบรนด์ทูน่ากระป๋องที่ขายในประเทศและแบรนด์ที่ขายเฉพาะในซูเปอร์มาร์เก็ต (1) ทั้งหมด 14 แบรนด์ และพบว่าส่วนใหญ่ไม่มีมาตรการเพียงพอในด้านการตรวจสอบย้อนกลับ ความยั่งยืน และความเป็นธรรม ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมปลาทูน่า
ผลการประเมินผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋อง 14 แบรนด์ที่จัดจำหน่ายในประเทศไทย พบว่ามี 5 แบรนด์อยู่ในเกณฑ์ "ควรปรับปรุง" และ 9 แบรนด์อยู่ในเกณฑ์ "พอใช้" แบรนด์ที่อยู่ในเกณฑ์ควรปรับปรุงและอยู่ในอันดับรั้งท้าย ได้แก่ ท็อปส์ อะยัม บิ๊กซี โฮม เฟรช มาร์ท และโรซ่า จากการตรวจสอบทั้ง 14 แบรนด์ไม่มีแบรนด์ใดเลยที่ได้รับคะแนน "ดี" แสดงให้เห็นว่า แต่ละแบรนด์ต้องพยายามมากขึ้นในการดำเนินนโยบายด้านความยั่งยืน
"เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่อุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋องต้องรับประกันว่าผลิตภัณฑ์ของตนสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าใช้วิธีการจับปลาแบบใด เกี่ยวข้องกับการขนถ่ายปลาทูน่ากลางทะเล การทำประมงที่ผิดกฎหมาย การใช้เครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง หรือมีการปฎิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อแรงงานหรือไม่ การดำเนินนโยบายการตรวจสอบย้อนกลับของผลิตภัณฑ์เป็นขั้นตอนแรกสุดและมีความสำคัญอย่างยิ่งในการปกป้องทะเลและมหาสมุทรซึ่งจะช่วยต่อกรกับการทำประมงแบบผิดกฎหมายและทำลายล้าง รวมถึงการปฎิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อแรงงานในห่วงโซ่อุปทาน" อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว
การจัดอันดับความยั่งยืนปลาทูน่ากระป๋องในไทยประเมินจากการส่งแบบสอบถามที่ส่งไปยังผู้ผลิตทั้ง 14 แบรนด์ โดยสอบถามถึงนโยบายและการปฎิบัติในการจัดหาวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่า รวมถึงเครื่องมือประมงที่ใช้ในการจับปลาทูน่าว่ามีการทำลายทรัพยากรและสิ่งมีชีวิตในทะเล เช่น การจับฉลามเพื่อเอาครีบหรือไม่ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์ถึงแหล่งที่มาได้หรือไม่ นอกจากนี้ ยังสอบถามถึงความเป็นธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคมของในแต่ละแบรนด์ สภาพการทำงานที่ย่ำแย่และการปฎิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อแรงงานในอุตสาหกรรมปลาทูน่า
จากการจัดอันดับพบว่า ทีซีบี ได้รับคะแนนสูงสุดกว่าแบรนด์อื่น แต่ยังไม่ได้จัดอยู่ในระดับที่ " ดี" ทีซีบี ทำคะแนนมากในด้านการตรวจสอบย้อนกลับของผลิตภัณฑ์มีนโยบายในเรื่องแหล่งที่มา อย่างไรก็ตาม ทีซีบี ยังต้องปรับปรุงในด้านความยั่งยืนและเป็นธรรม เนื่องจากใช้ปลาทูน่าครีบเหลืองและปลาทูน่า Tonggol ซึ่งทั้งสองสายพันธุ์นี้มีปัญหาในเรื่องจำนวนประชากรรวม และการจับปลาทูน่าทั้งสองสายพันธุ์นี้ถูกจับมาด้วยวิธีการทำประมงแบบไม่ยั่งยืน โดยใช้อวนล้อมร่วมกันกับเครืองมือล่อปลา (FAD) ซึ่งเป็นสาเหตุปัญหาของการจับสัตว์น้ำที่ไม่ใช่เป้าหมาย
ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องรายใหญ่ที่สุดในโลก(3) และยังเป็นประเทศที่ผู้นำเข้าปลาทูน่ารายใหญ่ที่สุดในโลกโดยการนำเข้าปลาทูน่าราว 800,000 ถึง 850,000 ตันต่อปี (ข้อมูลปี 2551) เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมทูน่ากว่า 50 โรงงาน และร้อยละ 90 ของการนำเข้ามาจากมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางและตะวันตก โดยส่วนที่เหลือมีแหล่งที่มาจากมหาสมุทรอินเดียฝั่งตะวันตก (4)ล่าสุด มีรายงานหลายฉบับเกี่ยวกับการทำประมงอย่างผิดกฎหมาย และการปฎิบัติต่อแรงงานอย่างไม่เป็นธรรมในห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์อาหารทะเล จากปัญหาดังกล่าวทำให้สหรัฐอเมริกาจัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ใน เทียร์ 3 ซึ่งเป็นอันดับที่แย่ที่สุดในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ปี 2558 (Trafficking in Persons Report : TIP) และประเทศไทยยังล้มเหลวในการดำเนินมาตรการที่เพียงพอในการต่อกรกับการประมงผิดกฏหมาย ไม่รายงานและไร้การควบคุม (IUU Fishing)โดยได้รับใบเหลืองจากคณะกรรมธิการสหภาพยุโรป ทั้งหมดนี้เป็นภัยคุกคามต่อความสัมพันธ์ทางการค้ากับไทยในภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเลและอื่นๆ
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เปิดเผยรายงาน "การจัดอันดับโรงงานปลาทูน่ากระป๋องในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์" (5) และพบว่าโรงงานปลาทูน่ากระป๋องในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียส่วนใหญ่ยังขาดมาตรฐานระดับสากลในด้านการดำเนินการอย่างรับผิดชอบ ทั้งในด้านการตรวจสอบย้อนกลับ ความยั่งยืน และความเป็นธรรม
"การขาดการตรวจสอบย้อนกลับ และความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานทูน่ายังเป็นปัญหาที่พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้มีบทบาทในตลาด อุตสาหกรรมปลาทูน่าและอาหารทะเลจะต้องส่งเสริมมาตรฐานด้านแรงงาน และการตรวจสอบย้อนกลับให้เข้มแข็งโดยการพัฒนานโยบายการจัดหาวัตถุดิบที่สาธารณะชนเข้าถึงได้และทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ อุตสาหกรรมปลาทูน่ารายใหญ่เองก็มีความรับผิดชอบ ในการร่วมกับผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องที่ก้าวหน้าในการสร้างอุตสาหกรรมปลาทูน่าที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น การที่ตลาดยังคงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง การจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่สร้างความเสียหายต่อมหาสมุทรของเราก็จะหมายถึงความเสียหายสำหรับธุรกิจด้วย" อัญชลีกล่าวเพิ่มเติม
"ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคก็มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องที่มีการตรวจสอบย้อนกลับ ความยั่งยืนและความเป็นธรรม" อัญชลี กล่าวสรุป
รายงาน "จากทะเลสู่กระป๋อง : การจัดอันความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องในไทย" เป็นส่วนหนึ่งในงานรณรงค์ระดับโลกของกรีนพีซเพื่อผลักดันให้เกิดการประมงปลาทูน่าที่เป็นธรรมและยั่งยืนเพื่อปกป้องมหาสมุทรและผู้คนที่พึ่งพามหาสมุทร สามารถดูรายงาน "จากทะเลสู่กระป๋อง : การจัดอันความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องในไทย" ฉบับเต็มได้ที่
www.greenpeace.or.th/s/Thailand-canned-tuna-ranking