กรุงเทพ--13 พ.ย.--กระทรวงสาธารณสุข
กระทรวงสาธารณสุข สั่งการสถานพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ เตรียมทีมแพทย์-พยาบาล พร้อมรับมือกับอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงเทศกาลลอยกระทง ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งแพทย์ยังระบุอีกด้วยว่าการดื่มกาแฟเข้ม ๆ หรืออมยาระงับกลิ่นปาก ไม่ได้เป็นตัวช่วยขับแอลกอฮอล์ออกจากเลือด
นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึง การเตรียมความพร้อมของกระทรวงสาธารณสุข ในการให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนในเทศกาลลอยกระทง คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เดินทางไปเที่ยวกันอย่างคึกคักโดยเฉพาะในคืนวันที่ 14 พฤศจิกายน 2540 ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงได้สั่งการให้สถานพยาบาลทั่วประเทศเตรียมพร้อมรับมือกับอบุัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยให้จัดเตรียมทีมแพทย์-พยาบาล พร้อมรถพยาบาลฉุกเฉิน รวมทั้งระบบการสื่อสารแจ้งเหตุ โดยประชาชนสามารถแจ้งเหตุได้ที่หมายเลข 1669 หรือ 191 โดยไม่ต้องเสียค่าโทรศัพท์แต่อย่างใด ทั้งนี้เพื่อให้การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังให้สถานพยาบาลทุกแห่ง สำรองคลังเลือดไว้ให้เพียงพออีกด้วย
ในปีที่ผ่านมา การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรบนเส้นทางหลวงในช่วงเดือนพฤศจิกายน มักจะสูงขึ้นกว่าเดือนอื่น กล่าวคือในเดือนพฤศจิกายนมีผู้เสียชีวิต 331 ราย สูงกว่าเดือนกันยายน และตุลาคม ซึ่งมีจำนวน 293 และ 313 รายตามลำดับ
นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในการป้องกันอุบัติเหตุไม่ให้เกิดขึ้นขณะใช้รถใช้ถนน เป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนในสังคม โดยประการหนึ่งที่จะช่วยลดอุบัติเหตุได้คือ ผู้ที่ต้องขับรถในระยะทางไกล ๆ ควรต้องหาผู้ขับสับเปลี่ยน หรือหยุดพักระหว่างทาง ไม่ควรขับคนเดียวเกิน 8 ชั่วโมง เนื่องจากจะเกิดความเมื่อยล้า ซึ่งผลดังกล่าวจะทำให้สมองสั่งการช้า อาจทำให้การตัดสินใจผิดพลาดได้ นอกจากนี้ผู้ที่มีหน้าที่ขับรถ ไม่ควรดื่มสุราหรือเมื่อดื่มสุราแล้ว ก็อย่าขับรถ เพราะแอลกอฮอล์จะมีผลต่อระบบการทำงานของสมอง
ทางด้านนายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์ด้านอุบัติเหตุและสาธารณภัย กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ยังมีประชาชนหรือนักดื่มจำนวนมาก ยังมีความเชื่อที่ผิด ๆ มากมายในการลดอาการมึนเมาได้เร็วขึ้นหรือเร่งให้ตับทำลายแอลกอฮอร์ได้มากขึ้น เช่นดื่มกาแฟเข้ม ๆ อาบน้ำ หรืออมยาระงับกลิ่นปาก ซึ่งวิธีการดังกล่าวอาจทำให้รู้สึกสดชื่นขึ้นบ้าง แต่ไม่สามารถลดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดได้ ดังนั้นในการปฏิบัติตัว หากมีความจำเป็นต้องขับรถ หลังดื่มสุรา มีข้อแนะนำดังนี้คือ 1. หากคิดว่าต้องขับ ให้ดื่มน้อยที่สุด 2. ให้หยุดดื่มก่อนที่จะไปขับรถประมาณ 2 ชั่วโมง และในระหว่างนี้ให้พยายามพักผ่อนและให้ดื่มน้ำเย็นธรรมดาหรือน้ำอัดลมให้มากที่สุด ชั่วโมงละ 4 ขวด แบ่งดื่มทุก 15 นาที เพื่อให้ปัสสาวะ ขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย และที่ดีที่สุดก็คือ เมื่อรู้ว่าจะต้องขับรถ ควรงดดื่มสุรา ซึ่งจะเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด--จบ--