กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. เผยการประเมินรอบ 4 โฉมใหม่ พ.ศ.2559 –2563 ตั้งเป้าใช้กระดาษเป็นศูนย์ ลดภาระด้านเอกสาร และลดจำนวนวันตรวจสถานศึกษา ซึ่งเป็นการช่วยลดภาระให้สถานศึกษา โดยแบ่งการประเมินออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่ 1 การประเมินเพื่อพัฒนา เป็นการประเมินสถานศึกษาตามการประกันคุณภาพภายใน อิงผลการดำเนินงานและข้อมูลพื้นฐานของสถานศึกษา และ รูปแบบที่ 2 การประเมินเพื่อรับรองมาตรฐาน คือ รูปแบบการประเมินตามความสมัครใจของสถานศึกษา รวมถึงมีการเทียบเคียงมาตรฐานระดับสากล เพื่อยกระดับสถานศึกษาให้สามารถแข่งขันได้กับนานาชาติ ทั้งนี้เพื่อสะท้อนผลการประเมินที่สามารถนำไปใช้พัฒนาให้เกิดการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาในระดับพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น การประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 4 (พ.ศ.2559 –2563) จะใช้วิธีการประเมินคุณภาพเชิงพื้นที่ (Area-Based Assessment : ABA Model) ร่วมกับการประเมินตามกรอบระยะเวลา 5 ปี ให้สามารถสะท้อนผลการจัดการศึกษาของแต่ละพื้นที่ให้สอดคล้องกับบริบทหรือสภาพจริง ณ ช่วงเวลานั้นๆ โดยปีที่ 1 เริ่ม พ.ศ.2559 จำนวน 22 จังหวัด นอกจากนี้ สมศ. ยังมีแผนที่จะเปิดสายด่วนประเมินฯ รอบสี่ เพื่อให้ข้อมูล และตอบข้อสงสัยของสถานศึกษา ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 4 เพิ่มช่องทางสื่อสารครู อาจารย์ ด้วยไลน์กรุ๊ป สมศ. เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับสถานศึกษาที่จะต้องรับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 4
สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่า การประเมินคุณภาพภายนอกดำเนินการมาแล้วสามรอบ ได้แก่ รอบแรก (พ.ศ. 2544–2548) รอบสอง (พ.ศ. 2549–2553) และรอบสาม (พ.ศ. 2554-2558) โดยทำการประเมินสถานศึกษาทุกระดับทั่วประเทศรวมกว่า 60,000 แห่ง สมศ. ตั้งเป้าสะท้อนความสำคัญของการประเมินมาตรฐานและคุณภาพการศึกษา ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อรายงานผลการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาต่อสถานศึกษา ต่อหน่วยงานต้นสังกัด และต่อรัฐบาล และเพื่อให้สามารถนำผลการประเมินไปใช้วางแผนปรับปรุงพัฒนาสถานศึกษาให้มีคุณภาพได้สอดคล้องตามนโยบายของภาครัฐ นอกจากนี้ผลการประเมินยังเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้ใช้พิจารณาเลือกสถานศึกษาในการส่งบุตรหลานเข้าศึกษาต่อในสถานศึกษาที่มีมาตรฐาน ในภาพรวมไม่เพียงช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้กับประชาชน แต่ยังเปรียบเสมือนเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับสินค้าหรือการบริการที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง เหนือสิ่งอื่นใดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจะประสบความสำเร็จได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับความร่วมมือจากสื่อมวลชน นับว่าเป็นเครือข่ายหนึ่งที่สำคัญของการประกันคุณภาพการศึกษาที่ช่วยนำเสนอข่าวและข้อมูลที่กระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเกิดความตระหนักในเรื่องการประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งถือเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนคุณภาพ และการประเมินคุณภาพการศึกษาที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการสะท้อนผลให้การขับเคลื่อนคุณภาพได้สำเร็จตามนโยบายการพัฒนาการศึกษาชาติ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะส่งผลให้ประชากรของประเทศมีคุณภาพทัดเทียมนานาชาติ โดยเฉพาะการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ASEAN Economic Community หรือ (AEC) ในสิ้นปีนี้ เพื่อให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้อย่างทัดเทียม
ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่า ในการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 4 ที่จะเกิดขึ้นต่อไประหว่าง ปี พ.ศ.2559 –2563 สมศ. ได้วางแผนพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มุ่งลดภาระของสถานศึกษาเป็นเป้าหมายสำคัญ และอำนวยความสะดวกให้การประเมินคุณภาพมีความรวดเร็วมากขึ้น ภายใต้นโยบาย "ลดภาระ สร้างสรรค์ กัลยาณมิตร" โดยการประเมินดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ อันได้แก่
รูปแบบที่ 1 การประเมินเพื่อพัฒนา เป็นการประเมินสถานศึกษาตามการประกันคุณภาพภายในอิงผลการดำเนินงานและข้อมูลพื้นฐานของสถานศึกษา ซึ่งทุกสถานศึกษาต้องเข้าร่วมตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตราที่ 49 "ให้มีการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาทุกแห่งอย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุกห้าปีนับตั้งแต่ การประเมินครั้งสุดท้าย และเสนอผลการประเมินต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อสาธารณชน" โดยการประเมินรูปแบบนี้เป็นการประเมินที่ทุกสถานศึกษาจะส่งข้อมูลรายงานการประเมินตนเอง (Self Assessment Report) และข้อมูลพื้นฐานของสถานศึกษา โดยต้องได้รับการรับรองจากต้นสังกัด และพิจารณาเห็นชอบจากกรรมการสถานศึกษา หรือสภามหาวิทยาลัย เพื่อให้ สมศ. พิจารณาข้อมูลควบคู่ไปกับข้อมูลผลการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 1-3 พร้อมให้ข้อเสนอแนะแก่สถานศึกษาและต้นสังกัด เพื่อจัดกลุ่มสถานศึกษาและประสานแจ้งต้นสังกัดในการพัฒนาต่อไป
รูปแบบที่ 2 การประเมินแบบรับรองมาตรฐาน (Voluntary Accreditation) เป็นการประเมินตามความสมัครใจของสถานศึกษา รวมถึงมีการเทียบเคียงมาตรฐานระดับสากลการเพื่อยกระดับสถานศึกษาให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล โดยสถานศึกษาสามารถเลือกรูปแบบการประเมินได้ตามความสมัครใจใน 2 รูปแบบ คือ 1) มาตรฐานขั้นพื้นฐาน (Basic Standard) เพื่อส่งเสริมให้สถานศึกษาพัฒนาคุณภาพให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด โดยเทียบเคียงการรับรอง แบ่งเป็นการประเมินทั่วไป ประเมินเฉพาะทาง และประเมินโดยกำหนดเป้าหมายร่วม โดย สมศ. จะตรวจเยี่ยมสถานศึกษา 1-3 วัน และจะให้การรับรองสถานศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด 2) มาตรฐานขั้นสูง (Advanced Standard) เป็น การประเมินคุณภาพที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศ (Excellence) เพื่อพัฒนาคุณภาพและยกระดับมาตรฐานสู่สากล ประกอบด้วย 2 รูปแบบ คือ 1) แบบก้าวหน้า (Progressive) เป็นการประเมินร่วมระหว่างไทยกับสากล หรือการประเมินโดยองค์กรนานาชาติ และ 2) การประเมินแบบท้าท้าย (Challenge) เพื่อการจัดอันดับในอาเซียน (ASEAN Ranking) ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Ranking) และอันดับโลก (World Ranking)
ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าวต่ออีกว่า เพื่อสะท้อนผลการประเมินที่สามารถนำไปใช้พัฒนาให้เกิดการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาในระดับพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น การประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 4 (พ.ศ.2559 –2563) จะใช้วิธีการประเมินคุณภาพเชิงพื้นที่ (Area-Based Assessment : ABA Model) ร่วมกับการประเมินตามกรอบระยะเวลา 5 ปี ให้สามารถสะท้อนผลการจัดการศึกษาของแต่ละพื้นที่ให้สอดคล้องกับบริบทหรือสภาพจริง ณ ช่วงเวลานั้นๆ เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคได้เข้ามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของจังหวัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ การประเมินเชิงพื้นที่ในปี พ.ศ.2559 มีจำนวนทั้งสิ้น 22 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยนาท ชุมพร เชียงราย ตรัง ตราด น่าน ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พังงา พัทลุง เพชรบุรี แพร่ ภูเก็ต ระนอง ระยอง ราชบุรี ลพบุรี ลำพูน สมุทรสงคราม สิงห์บุรี ละอำนาจเจริญ
สิ่งสำคัญสำหรับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 4 ถือเป็นจุดเปลี่ยนของการประเมินรูปแบบใหม่ โดย กำหนดแนวทางการดำเนินงาน ได้แก่ กระชับตัวบ่งชี้ โดยสถานศึกษาสามารถกำหนดตัวบ่งชี้ให้เหมาะสมกับปรัชญา ปณิธาน วิสัยทัศน์ พันธกิจ ความเชี่ยวชาญของสถานศึกษา ลดปริมาณเอกสาร (Paperless) สถานศึกษาสามารถส่งเอกสารเป็นไฟล์ ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อลดจำนวนการเตรียมเอกสารในการทำรายงานส่งผู้ประเมิน และลดจำนวนวันตรวจเยี่ยมสถานศึกษา โดยจะตรวจเยี่ยมสถานศึกษาตามความจำเป็น ภายในระยะเวลา 0-3 วัน นอกจากนี้ สมศ. ยังมีแผนที่จะเปิดสายด่วนการประเมินฯ รอบสี่ เพื่อให้ข้อมูล และตอบข้อซักถามเกี่ยวกับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 4 และโครงการ The Idol : คนคุณภาพ เป็นโครงการที่เชิญผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการศึกษาลงพื้นที่ให้คำแนะนำด้านการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา การผลิตคู่มือและคลิปวิดีโอ ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 4 เพิ่มช่องทางสื่อสารครู อาจารย์ ด้วยไลน์กรุ๊ป สมศ. เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับสถานศึกษาที่จะต้องรับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 4 และศูนย์เครือข่าย สมศ. 9 ศูนย์ทั่วประเทศ เพื่อให้บริการคำปรึกษาด้านการประเมินคุณภาพ เพิ่มความสะดวกให้กับสถานศึกษาที่จะรับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 4 ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th