กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์
เพราะทุกวันนี้โลกหมุนเร็วกว่าเดิม แล้วเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า ลูกๆ ของเราได้รับการเตรียมความพร้อมเพื่อให้เผชิญกับโลกใบนี้ได้ เนื่องจากพ่อแม่ส่วนใหญ่มีชีวิตที่เร่งรีบมากขึ้นเพราะต้องออกไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ทำให้มีเวลาในการเลี้ยงดูลูกน้อยลง ภาระนี้จึงตกไปอยู่ที่ "โรงเรียนหรือศูนย์รับเลี้ยงเด็ก" ด้วยความเชื่อมั่นว่าสถานที่เหล่านี้คือผู้ช่วยคนสำคัญที่จะช่วยปลูกฝังลูกให้มีพัฒนาการที่สมวัยได้ แต่แท้จริงแล้วพัฒนาการที่จำเป็นซึ่งเป็นรากฐานของการใช้ชีวิตของลูกไม่ได้อยู่แค่ที่โรงเรียน แต่เริ่มต้นที่สองมือพ่อแม่สร้างตั้งแต่เยาว์วัยเพราะการเรียนรู้ของเด็กนั้นเกิดขึ้นได้ตั้งแต่แรกเกิด
"เด็กไทยในปัจจุบันเป็นเด็กยุค Generation Alpha ซึ่งเป็นยุคไร้พรมแดน เด็กรุ่นนี้เกิดจากกลุ่มพ่อแม่ยุค Generation Y และ Z ที่มีลูกตอนอายุมากขึ้นกว่าแต่ก่อน มักมีลูกจำนวนน้อยเพียง 1 – 2 คน ทำให้พ่อแม่ทุ่มเทความรักความเอาใจใส่ให้กับลูกอย่างเต็มที่ในรูปแบบของการปรนเปรอด้วยสิ่งของ ของเล่นสำเร็จรูปต่างๆ แต่พ่อแม่กลับมีเวลาอยู่กับลูกอย่างมีคุณภาพน้อยลง ผนวกกับวิถีชีวิตที่เร่งรีบ ทำให้พ่อแม่เร่งรัดลูกในทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องชีวิตประจำวันไปจนถึงเรื่องทักษะกระบวนการคิดและตัดสินใจ เมื่อพ่อแม่ทนไม่ได้ที่จะรอคอยให้ลูกได้ใช้สมองในการคิดเพื่อตอบคำถาม พ่อแม่จึงคิดแทนและให้คำตอบแบบเบ็ดเสร็จรวบรัด ไม่รอเวลาให้ลูกได้ลองผิดลองถูก หรือค้นหาคำตอบด้วยตนเอง ส่งผลให้เด็กขาดโอกาสที่ควรจะได้รับการฝึกฝนเพื่อให้เด็กได้มีพัฒนาการเป็นไปตามวัย" นางสาวสโลพร ตรีพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการ โรงเรียนอนุบาลบ้านพลอยภูมิ กล่าว
"เนื่องจากสมองของเด็กมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงวัยเด็กแรกเกิดถึง 5 ปี เป็นวัยแห่งโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาต่อเนื่องได้มากกว่าวัยอื่นๆ ดังนั้นพ่อแม่จึงมีบทบาทสำคัญที่จะสร้างโอกาสการเรียนรู้ให้แก่ลูก ตามธรรมชาติแล้ว เด็กต้องการการฝึกฝนทักษะทางการสังเกตและการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง5 ที่เกิดจากการได้เล่น ได้เรียนรู้ ทดลอง และลงมือทำด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถของพวกเขา ทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้สมองพัฒนาได้อย่างเต็มความสามารถ ทำให้เซลล์สมองสามารถแตกแขนงออกไปได้มาก เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการพัฒนาในช่วงต่อไปเมื่อโตขึ้น นอกจากนี้ เด็กวัยเล็กควรเริ่มฝึกเรื่องการสื่อสาร พ่อแม่ควรให้โอกาสลูกได้พูดสื่อความรู้สึกของตนเองออกมา แต่พ่อแม่ส่วนมากมักกังวลว่าลูกจะคิดไม่เป็น พูดไม่เป็นจึงคอยหยิบยื่นสิ่งที่ลูกต้องการทันทีโดยที่ลูกไม่ต้องบอก ในขณะเดียวกัน พ่อแม่ที่ทำงานมากๆ จนไม่มีเวลาสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูก ทิ้งลูกให้อยู่กับโทรทัศน์และพี่เลี้ยงต่างชาติ ยิ่งทำให้เด็กขาดโอกาสในการเข้าใจภาษา มีความสับสนกับคำที่ได้ยิน บางรายออกเสียงไม่ชัด และพัฒนาการด้านภาษาล่าช้ากว่าวัย" ผอ.สโลพร กล่าวเสริม
สำหรับนางเอมอร ศรีวรรธนะ ผู้จัดการ โรงเรียนอนุบาลชนานันท์ ได้ให้ความเห็นว่า "เด็กทุกคนเกิดมามีศักยภาพและความพร้อมที่จะเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด การเรียนรู้ของเด็กเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในห้องเรียนหรือโรงเรียนเท่านั้น ทั้งนี้การเรียนรู้ของลูกสามารถเกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ แค่คุณแม่พูดสื่อสารและสัมผัสลูกทุกวันก็จะช่วยให้เด็กๆ มีพัฒนาการและอารมณ์ดีได้ สำหรับลูกวัยเล็ก เล่านิทานให้ลูกฟังบ่อยๆ มีคำคล้องจองเป็นจังหวะ ก็จะช่วยกระตุ้นการฟัง จินตนาการของลูกได้ สำหรับเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย พ่อแม่สามารถสอนการเรียนรู้ให้ลูกได้ผ่านชีวิตประจำวัน เช่น การชวนลูกจัดโต๊ะกินข้าว ชวนลูกนับดูว่าสมาชิกในบ้านมีกี่คน ต้องหยิบจานกี่ใบ ช้อนส้อมกี่คู่ ซึ่งเท่ากับเป็นการสอนวิชาคณิตศาสตร์ไปในตัว นอกเหนือจากนี้ ยังสอนให้เด็กรู้จักรอคอยให้ทุกคนในบ้านนั่งพร้อมกันแล้วค่อยรับประทาน เสร็จแล้วช่วยนำจานไปเก็บหรือเช็ดโต๊ะ สอนลูกให้รู้จักมีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น จะเห็นได้ว่าพ่อแม่สามารถสร้างนาทีแห่งการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมง่ายๆ ในชีวิตประจำวันได้ทุกวัน"
"การเรียนรู้ที่ดีที่สุดของเด็กควรเรียนรู้ผ่านการเล่น ผ่านประสบการณ์ตรง ได้สัมผัสของจริง ได้ลงมือทำด้วยตัวเองรวมถึงคุณพ่อคุณแม่ควรจะคำถามปลายเปิดในการกระตุ้นให้เด็กได้ฝึกคิดวิเคราะห์ หัดสังเกต แก้ปัญหา และเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่ชี้นำเด็ก เพราะเราเชื่อว่าเด็กแต่ละคนมีเหตุผลดีๆ ที่น่าสนใจไม่เหมือนกัน ทั้งนี้การเปิดโอกาสให้เด็กได้คิดและลงมือทำด้วยตัวเอง จะส่งเสริมให้เด็กสนใจใฝ่เรียนรู้ได้ดีกว่า เพราะเมื่อเด็กรู้สึกสนุก มีความสุขกับสิ่งที่ทำ เด็กก็พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้อย่างไม่สิ้นสุด ที่สำคัญ อย่าละเลยเรื่องความรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเอง เคารพกฏกติกาของสังคม มีวินัย เคารพสิทธิ์ของผู้อื่นและมีจริยธรรม" นางเอมอร กล่าวทิ้งท้าย
นอกเหนือจากการเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองแล้ว บทบาทของโภชนาการ ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยเตรียมความพร้อมตั้งแต่ก้าวแรกของลูก นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวว่า"โภชนาการมีความสำคัญอย่างยิ่งกับเด็กเล็กๆ เพราะสมองจะทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพ สมองต้องได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วน โดยเฉพาะสารอาหารสำคัญที่จำเป็น เช่น ดีเอชเอ โคลีน ไอโอดีน โฟเลต ฯลฯ ซึ่งเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อโครงสร้างและการทำงานของสมอง การที่เด็กได้รับสารอาหารที่ดีครบถ้วนจะช่วยทั้งการพัฒนาโครงสร้างของร่างกายและสมอง และมีสุขภาพที่สมบูรณ์ เจ็บป่วยน้อยลง ช่วยเตรียมพร้อมให้ลูกเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างเต็มที่"