กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--Studio Mango
บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ได้ร่วมพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคมและร่วมวางระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารกับผู้ให้บริการหลักในพม่าผ่านทั้งระบบเคเบิ้ลภาคพื้นดิน และระบบเคเบิ้ลใต้น้ำ ส่งผลให้ ปัจจุบันประเทศพม่าได้กลายเป็นตลาดใหม่สำหรับอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยคาดการณ์ว่า พม่าเป็นประเทศที่มีการขยายตัวทางด้านงานบริการด้านโทรคมนาคมอย่างรวดเร็ว ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในโลก
โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 2558 อัตราการเข้าถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศ อยู่ที่ 54.6% ขณะที่ย้อนไปในเวลาเดียวกันของปีก่อน อัตราการเข้าถึงอยู่ที่ 32.9% เท่านั้น และเชื่อว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องต่อไปในปีหน้า การขยายตัวของตลาดพม่ามีการเติบโตแบบก้าวกระโดด ทำให้พม่าเป็นที่จับตามองของนักลงทุนจากนานาประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งมีชายแดนติดต่อกับพม่าหลายแห่ง การพัฒนาเศรษฐกิจของพม่า ส่งผลให้การค้าชายแดนไทย-พม่า มีอัตราการขยายตัวสูงและแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาด้านการศึกษา สาธารณสุข และการให้บริการขั้น
พื้นฐานต่างๆ แก่ประชาชนชาวพม่า อันเป็นหนึ่งในนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนยังเป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับ CAT ในการเป็นผู้ให้บริการเชื่อมต่อไปยังพม่า และเป็น Hub สู่การเชื่อมต่อจากพม่าไปยังทั่วโลก
และเมื่อวันที่ 15-16 กันยายน ที่ผ่านมา ประเทศพม่าได้จัดประชุม Myanmar Connect 2015 ณ กรุงเนปิดอว์ ซึ่งถือเป็นการประชุมรวมกลุ่มผู้ประกอบการสื่อสารโทรคมนาคมในระดับนานาชาติ ครั้งสำคัญในอาเซียน เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวทางในการดำเนินธุรกิจโทรคมนาคมในพม่า โดยงานดังกล่าวจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ซึ่งในปีนี้ มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการโทรคมนาคมในประเทศพม่า และผู้ประกอบการโทรคมนาคมในระดับนานาชาติเข้าร่วมงานมากกว่า 400 คน โดย CAT ได้ร่วมสนับสนุนการจัดการประชุม พร้อมร่วมเข้าเจรจาธุรกิจกับคู่ค้าจากนานาประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า CAT มีความพร้อมในการร่วมมือกับพันธมิตรผู้ให้บริการการสื่อสาร ต่างๆ เพื่อให้การเชื่อมต่อเป็นไปอย่างต่อเนื่องและร่วมกันพัฒนาเครือข่ายการสื่อสาร เพื่อความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในภูมิภาคอินโดจีนและอาเซียน
ปัจจุบัน CAT เป็นผู้ให้บริการที่มีโครงข่ายเชื่อมโยงผ่านระบบเคเบิ้ลใต้น้ำระหว่างประเทศ มากที่สุดของไทย และล่าสุด ได้ร่วมลงทุนในระบบเคเบิ้ลใต้น้ำ Asia Pacific Gateway หรือ APG ซึ่งมีกำหนดให้บริการในปี 2559 นี้ อีกทั้งยังได้มีแผนการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงภาคพื้นดินกับประเทศเพื่อน บ้านอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นทางเลือกในการใช้งานให้บริการระบบสื่อสารหลักและสำรองให้แก่ ลูกค้า ทำให้ CAT มีความพร้อมสูงสุดที่จะเป็นผู้ให้บริการระดับภูมิภาค ด้วยตำแหน่งทางการตลาด ที่จะเป็น Hub to Indochina หรือเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงหลัก เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC และมุ่งพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับการให้บริการสู่มาตรฐานสากลต่อไป