กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ปัจจุบันงานวิจัยด้านพืชเขตร้อนและกึ่งร้อน อาทิ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ผัก ไม้ผล สมุนไพร รวมถึงไม้ดอกไม้ประดับนั้น มีการพัฒนาเทคโนโลยีทั้งด้านการผลิต การเก็บเกี่ยว หลังการเก็บเกี่ยว รวมถึงการแปรรูปอาหาร นอกจากนี้ยังมีการศึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีและสรีระวิทยาพืชอีกมากมาย โครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชเขตร้อนและกึ่งร้อน คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จัดงาน "การประชุมวิชาการและเสนอผลงานวิจัย พืชเขตร้อนและกึ่งร้อน (CRDC) ครั้งที่ 9" ขึ้นเมื่อวันที่ 3 - 4 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ เพิ่มพูนความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านงานวิจัยพืชเขตร้อนและกึ่งร้อน และการผลิตอาหารปลอดภัยร่วมกัน
รศ.บุษยา บุนนาค คณบดีคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มจธ. กล่าวว่า การจัดงานประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรายงานความก้าวหน้าของนักวิชาการ นักวิจัย จากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนผลงานของนักศึกษา และเพื่อให้เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ รวมทั้งเปิดโอกาสให้นำงานวิจัยบางส่วนมาเผยแพร่แก่นักวิจัย นักวิชากร ตลอดจนผู้ประกอบการภาคเอกชนและบุคคลทั่วไปที่สนใจความก้าวหน้าของงานวิจัยด้านนี้ ซึ่งจะเป็นการช่วยสร้างเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนางานวิจัยด้านนี้ เพื่อประโยชน์ของประเทศซึ่งภายในงานมีการบรรยายพิเศษจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในและต่างประเทศ และยังมีการนำเสนอผลงานถึงกว่า 229 เรื่อง แบ่งเป็นภาคบรรยาย 37 เรื่อง และโปสเตอร์ 192 เรื่อง
ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ ที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้กล่าวเปิดงานประชุมและบรรยายพิเศษเรื่อง Precision farming โดยสรุปพอสังเขปว่า จากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนที่เกิดจากภาวะที่โลกร้อนขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำท่วม และน้ำแล้ง ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่าผลผลิตทางการเกษตรหลายประเทศจะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะผลผลิตทางการเกษตรของไทยจะลดลงร้อยละ 20 เนื่องจากข้อจำกัดของพื้นที่ในการเพาะปลูก การขาดแคลนน้ำ การใช้ปุ๋ยปริมาณมาก การปนเปื้อนสารเคมีต่างๆ ทรัพยากรเสื่อมโทรม อีกทั้งปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ขณะนี้ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเท่ากับประเทศพัฒนาแล้ว ดังนั้นประเทศไทยจึงจำเป็นต้องลดลงปริมาณให้ได้ นอกจากนี้ปัญหาการกีดกันทางการค้าจากต่างประเทศ รวมถึง Nontariff barrier นับเป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญ การติดฉลากสีเขียวเพื่อให้มีการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของสินค้าทำให้เราไม่สามารถถางหรือบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตรได้ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นแรงกดดันต่อภาคการเกษตรของไทย แต่เมื่อความต้องการอาหารที่มีมากขึ้น จึงมีความต้องการผลิตผลทางการเกษตรเพิ่มขึ้น ขณะที่ไทยเป็นประเทศส่งออกผลิตผลทางการเกษตรและอาหารอันดับที่ 13 ของโลก
แต่การเปิด AEC อาจทำให้มีคู่แข่งทางการเกษตรเพิ่มขึ้นเพราะเพื่อนบ้านในอาเซียนส่วนใหญ่มีผลิตผลทางการเกษตรที่คล้ายกัน ดังนั้น จำเป็นที่ภาคการเกษตรไทยต้องเร่งปรับตัว โดยการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ให้เกษตรกรได้นำไปใช้ประโยชน์ เช่น Precision farming เป็นการนำเทคโนโลยีไอทีเข้ามาช่วยในการจัดการฟาร์ม ให้มีประสิทธิภาพทั้งกระบวนการผลิตและผลผลิต
"เราเชื่อว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรแล้ว ยังทำให้ไทยรักษาความสามารถในการแข่งขัน และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรได้ เพราะแรงงานของไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรถึงร้อยละ 40 แต่มีรายได้ต่ำกว่าแรงงานในภาคก่อสร้าง หากเราไม่สามารถยกระดับรายได้ต่อหัวของเกษตรกรขึ้นมาได้ ประเทศก็จะไม่มีทางหลุดพ้นจากกับดับรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) นอกจากนี้เทคโนโลยีไม่เพียงก่อให้เกิดการสร้างแรงงานในภาคการเกษตรแต่ยังเกิดการจ้างงานมากขึ้นในภาคการผลิตและอุตสาหกรรมแปรรูป"
ศ.ดร.มรกต กล่าวอีกว่า "เราจำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ที่สามารถทนต่อกับสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้นและเหมาะสม เมื่อเรามีพันธุ์ดี ก็ต้องมีการจัดการที่ดีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้เพิ่มขึ้นในพื้นที่และทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และการนำเทคโนโลยีไอทีเข้าไปช่วยในการจัดการเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตหรือห่วงโซ่ รวมถึงเรื่องความปลอดภัย อย่างไรก็ตามการจะพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ต้องอาศัยข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์และนำไปสู่การตัดสินใจในระดับนโยบาย ซึ่งจะต้องได้รับความร่วมมือจากบุคลากรหลายหลากสาขา โดยเฉพาะนักปรับปรุงพันธุ์พืชกำลังเป็นที่ต้องการของภาคเอกชน และนักพัฒนาระบบที่จะนำโซเซียลมีเดียมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อภาคการเกษตรไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเตือนภัยหรือเรื่องการจัดการต่างๆ สิ่งสำคัญคือการให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในฐานะผู้ใช้จริง"
จากนั้นเป็นการบรรยายเรื่อง การพัฒนาความร่วมมือเพื่อการสร้างนวัตกรรมอาหารคุณภาพ โดยนายฉัตรชัย สงวนวงศ์ จากบริษัท ซีพีแรม จำกัด และผลกระทบการเปิด AEC กับตลาดผลไม้ไทย โดย นายปราโมทย์ ร่วมสุข ที่ปรึกษาคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ชายฝั่งตะวันออก-หอการค้าไทย นอกจากนี้มีการบรรยาย เรื่องถั่วและประโยชน์ทางสุขภาพ" โดย ผศ. ดร. ฉัตรภา หัตถโกศล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และการนำเทคโนโลยีจีโนม มาใช้ปรับปรุงพันธุ์พืชเขตร้อนและพืชกึ่งร้อนโดย ดร. สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยเทคโนโลยีจีโนม สวทช. ซึ่งงานนี้ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งในประเทศและต่างประเทศกว่า 240 คน