กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง
กยท. ชี้ สารจับตัวทำยางก้อนถ้วยดีมีคุณภาพ ต้อง "กรดฟอร์มิค" เท่านั้น ระบุช่วยรักษาสภาพความยืดหยุ่น ไม่มีสารตกค้าง สลายตัวเองได้ ทั้งยังไม่ส่งกลิ่นเหม็นทำลายสิ่งแวดล้อมดึงความเชื่อมั่นผู้ผลิตยางล้อที่รับซื้อยางแท่งกลับคืนเร่งดำเนินการส่งเจ้าหน้าที่ กยท. จังหวัดทั่วประเทศ รณรงค์ส่งเสริมให้ความรู้เกษตรกรผู้ผลิตยางก้อนถ้วยทุกพื้นที่
นายเชาว์ ทรงอาวุธ รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ปฏิบัติงานในกิจการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้ผลิตยางล้อต่างประเทศ ยังมีความสนใจรับซื้อยางแท่งจากไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งวัตถุดิบสำคัญของการทำยางแท่งคือยางก้อนถ้วย การผลิตยางในรูปแบบยางก้อนถ้วยจึงแพร่หลายไปทุกพื้นที่ เพราะทำง่าย ใช้เวลาไม่นาน และส่งขายได้เร็ว แต่ช่วงระยะหลังกลับพบปัญหาผลผลิตยางก้อนถ้วยขาดคุณภาพ เนื่องจากระดับซัลเฟตในยางมีปริมาณสูง ส่งผลกระทบต่อการผลิตยางแท่งที่ส่งออกอุตสาหกรรมยางล้อต่างประเทศ กยท.ในฐานะผู้ดูแลเกษตรกรชาวสวนยาง จึงมอบหมายพนักงานทุกพื้นที่รณรงค์ส่งเสริมความรู้แนะนำให้ใช้ "กรดฟอร์มิค" ในกระบวนการผลิตยางก้อนถ้วย เพราะเป็นสารจับตัวที่ได้รับการรับรองด้านวิชาการว่า สามารถรักษาสภาพความยืดหยุ่นของยาง ไม่ทำให้ยางเสียคุณภาพ ไม่มีสารตกค้างสลายตัวเองได้และไม่ส่งกลิ่นเหม็นทำลายสิ่งแวดล้อม ในส่วนของกรดซัลฟิวริค ถ้าใช้ปริมาณสูงจะส่งผลเสียทำให้ผลิตภัณฑ์ยางขาดความยืดหยุ่น เสื่อมคุณภาพ เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตถูกกัดกร่อน เป็นมลพิษด้านสุขภาพกับแรงงานในสวนยางตลอดจนสิ่งแวดล้อม เพราะเกิดน้ำเสียจากกรดประเภทรุนแรง ส่วนสารจับตัวที่นำเกลือแคลเซียมคลอไรด์มาใช้ แม้สารดังกล่าวจะทำให้ยางจับตัวเป็นก้อนเร็ว แต่มีผลเสียทำให้ก้อนยางแข็ง ขาดความยืดหยุ่น มีสีคล้ำ ส่งผลให้คุณภาพยางต่ำลงได้
นายเชาว์ยังกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา กยท. ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร ได้รณรงค์ให้ความรู้แก่เกษตรกรมาโดยตลอดในการใช้กรดฟอร์มิคเป็นสารจับตัว เนื่องจากสูตรโครงสร้างทางเคมีของกรดฟอร์มิคคือ HCOOH มีคาร์บอนเป็นส่วนประกอบเพียงตัวเดียว จึงเป็นกรดอ่อนที่มีความแรงของกรดไม่มากนักเมื่อเทียบกับกรดชนิดอื่น กรดฟอร์มิคเป็นสารอินทรีย์ที่จับตัวเนื้อยางได้อย่างสมบูรณ์ สลายตัวง่าย ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและไม่กระทบต่อหน้ายางกรีดหากใช้ในอัตราส่วนตามคำแนะนำ และจากการที่ กยท. โดยสถาบันวิจัยยางได้ศึกษาจากการเก็บตัวอย่างมาวิเคราะห์ทั้งทางเคมีและทางกายภาพ ยังไม่พบว่ามีสารเคมีชนิดใดที่สามารถผลิตยางแผ่นหรือยางก้อนถ้วยแล้วมีคุณภาพที่ดีเท่ากับการใช้กรดฟอร์มิค
นายเชาว์ยังกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา กยท. ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร ได้รณรงค์ให้ความรู้แก่เกษตรกรมาโดยตลอดในการใช้กรดฟอร์มิคเป็นสารจับตัว เนื่องจากสูตรโครงสร้างทางเคมีของกรดฟอร์มิคคือ HCOOH มีคาร์บอนเป็นส่วนประกอบเพียงตัวเดียว จึงเป็นกรดอ่อนที่มีความแรงของกรดไม่มากนักเมื่อเทียบกับกรดชนิดอื่น กรดฟอร์มิคเป็นสารอินทรีย์ที่จับตัวเนื้อยางได้อย่างสมบูรณ์ สลายตัวง่าย ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและไม่กระทบต่อหน้ายางกรีดหากใช้ในอัตราส่วนตามคำแนะนำ และจากการที่ กยท. โดยสถาบันวิจัยยางได้ศึกษาจากการเก็บตัวอย่างมาวิเคราะห์ทั้งทางเคมีและทางกายภาพ ยังไม่พบว่ามีสารเคมีชนิดใดที่สามารถผลิตยางแผ่นหรือยางก้อนถ้วยแล้วมีคุณภาพที่ดีเท่ากับการใช้กรดฟอร์มิค