กรุงเทพฯ--5 ต.ค.--คาร์ล บายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์
เมื่อเร็วๆ นี้ อินเทล ร่วมกับ องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา หรือ USAID จัดกิจกรรมพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง โดยมีอาจารย์ผู้สอนทางด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ จากประเทศกัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และ ไทย เข้าร่วมกิจกรรม ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อเรียนรู้วิธีพัฒนาทักษะด้านนวัตกรรมแก่นักศึกษาด้วยผลิตภัณฑ์ อินเทล® กาลิเลโอ (Intel® Galileo)
นาย เต็ด ซอ เอ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยยาดานาร์พอน (Yatanarpon University) ประเทศพม่า หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรม กล่าวว่า "การเรียนรู้การทำงานเชิงเทคนิคของบอร์ดกาลิเลโอเป็นประสบการณ์อันดีเยี่ยม แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ผมได้รับจากการเวิร์คชอปในครั้งนี้ คือ การเรียนรู้ถึงแนวทางที่จะนำ ความสามารถของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง โดยกลุ่มของผมใช้เวลาเพียง 4 วันในเวิร์คชอปนี้พัฒนาต้นแบบระบบที่จอดรถอัจฉริยะ สามารถดูที่ว่างจากแอพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือได้ ความสามารถของบอร์ดกาลิเลโอซึ่งมีความยืดหยุ่นสูงจะช่วยให้นักศึกษาของผมนำไปออกแบบสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ที่มีประโยชน์ได้มากมาย ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาผู้เรียนของผม"
อินเทลและ USAID ได้ร่วมมือกันเพื่อสร้างโอกาสแก่เยาวชนรุ่นใหม่ในการเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นสำหรับการเป็นผู้ประกอบการและการพัฒนานวัตกรรม
ดร. อันจาน กอช ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคของอินเทล กล่าวว่า "ความร่วมมือครั้งนี้ระหว่างอินเทลและ USAID เป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่งของการสร้างทักษะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในชั้นเรียนระดับมหาวิทยาลัย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรในภูมิภาคนี้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการนำเสนอเทคโนโลยีล้ำสมัยสู่ห้องเรียน จะช่วยให้นักศึกษาสามารถสร้างสรรค์โซลูชั่นเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ในโลกแห่งความเป็นจริงได้ เมื่อเทคโนโลยีเหล่านี้หล่อหลอมเข้ากับวิธีการเรียนการสอนแบบมีปฎิสัมพันธ์ จะยิ่งส่งเสริมการพัฒนาทักษะที่สำคัญของทั้งผู้สอนและนักศึกษาต่อไป"
การอบรมในครั้งนี้ สนับสนุนเป้าหมายของ USAID ในการยกระดับศักยภาพของเยาวชนให้ได้รับโอกาสทางการจ้างงานมากขึ้น ด้วยการประยุกต์เทคโนโลยีควบคู่กับการปรับวิธีจัดการเรียนการสอน โดยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจซึ่งอาจเป็นนายจ้างในอนาคตเข้ามามีส่วนร่วม
นาง เบ็ธ เพจ ผู้อำนวยการสำนักงานภาคพื้นเอเชีย องค์การ USAID กล่าวว่า "การสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคธุรกิจอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ช่วยให้อาจารย์ผู้สอนได้นำเครื่องมือและนวัตกรรมล้ำสมัยจากผู้นำทางเทคโนโลยีต่างๆไปใช้ประโยชน์ รวมถึงการสร้างสรรค์วิธีการใหม่ๆ ในการพัฒนาผู้เรียนบนแพลตฟอร์มเหล่านี้ด้วย"
เมื่อผู้สอนเหล่านี้ได้กลับไปสู่สถานศึกษา อาจารย์จะออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่ประยุกต์ใช้บอร์ด อินเทล® กาลิเลโอ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมเพิ่มขึ้นตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ทั้งนวัตกรรมที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ไปแก้ปัญหาต่างๆ รอบตัว และนวัตกรรมด้านการเรียนรู้ที่ประยุกต์เทคโนโลยีใหม่นี้สู่หลักสูตร
รองศาสตราจารย์ พันธุ์ปิติ เปี่ยมสง่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า "การจัดเวิร์คชอปในครั้งนี้ไม่ได้เน้นการสอน แต่เน้นการเรียนรู้ โดยเฉพาะการเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาด้วยตนเอง เรียนรู้จากเพื่อนร่วมงาน และเรียนรู้ที่จะสรรหาทรัพยากรต่างๆ ที่ต้องการด้วยตัวเอง ทั้งหาความรู้ ทั้งหาเทคโนโลยี แนวทางนี้เป็นต้นแบบของสิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้นในห้องเรียน เป็นการเรียนรู้จากการปฎิบัติจริง ไม่ใช่แค่จากการฟังบรรยาย"
USAID สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการนี้แบ่งปันแนวปฎิบัติที่ดีแก่สถาบันการศึกษาอื่นๆ ในภูมิภาค ผ่านช่องทางของโครงการเชื่อมโยงภูมิภาคลุ่มน้ำโขงผ่านการศึกษาและฝึกอบรม (USAID COMET)