กรุงเทพ--23 มี.ค.--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะครบรอบการสถาปนาปีที่ 82 ในวันศุกร์ที่ 26 มีนาคม 2542 ในโอกาสนี้มหาวิทยาลัยจะจัดปาฐกถาชุดปรีชาญาณสยามครั้งที่ 4 เรื่อง "บทวิเคราะห์ด้านการศึกษา" โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์ อ.สวัสดิ์ จงกล และรศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ และ เรื่อง "วิวัฒนาการนาฎยศิลป์ไทยในกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325-2477" โดย รศ.ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ ปาฐกถาชุดปรีชาญาณสยามนี้เป็นหนึ่งในโครงการวิจัยเงินทุนจุฬาฯ เฉลิมฉลองสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเฉลิมฉลองการได้รับพระราชทานพระอิสริยยศและอิสริยศักดิ์เป็นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรฯ พระราชปนัดดาแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระราชนัดดาแห่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานกำเนิดแก่มหาวิทยาลัยและทรงสำเร็จการศึกษาอักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่งพระองค์แรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกองทุนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยวิทยาการอันเนื่องด้วยอารยธรรมของชนชาติไทย ส่งเสริมให้คนไทยภาคภูมิใจในความเป็นไทยและรักในศิลปวัฒนธรรมไทย
ปาฐกถาชุดปรีชาญาณสยาม ครั้งที่ 4 นี้จะจัดขึ้นในวันพุธที่ 24 มีนาคม 2542 เวลา 09.00-16.00 น. ณ ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมจุฬาฯ โดยในเวลา 09.00-12.00 น. ปาฐกถาเรื่องแรก "ปรีชาญาณสยาม : บทวิเคราะห์ด้านการศึกษา" เป็นการวิเคราะห์แนวคิด ปรัชญาทางด้านการศึกษา ซึ่งปัจจุบันได้มีการรับเอาปรัชญาและแนวคิดที่เป็นสากลมาใช้ในการจัดการศึกษาไทยอยู่มาก จึงควรที่จะมีการ วิเคราะห์ รวบรวมองค์ความรู้ที่นักปราชญ์ทางการศึกษาไทยได้แสดงสั่งสมไว้แก่บรรพกาลแล้วนำมาผสมผสานกับหลักการแนวคิดทางการศึกษาที่เป็นสากลให้ได้ สัดส่วนสมดุลกันสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยและนำไปใช้ได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้เนื่องจากกระบวนการศึกษาเป็นหลักการและรากฐานสำคัญของการพัฒนามนุษย์ ทั้งทางด้านกาย จิตใจ สติปัญญา สังคม บุคลิกภาพ คุณธรรม และวัฒนธรรม ส่วนในภาคบ่ายเวลา 13.00-16.00 น. เป็นปาฐกถาชุดปรีชาญาณสยาม เรื่อง "วิวัฒนาการนาฎยศิลป์ไทยในกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325-2477" โดย รศ.ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ งานวิจัยนี้มุ่งศึกษาวิวัฒนาการนาฎยศิลป์ไทยในกรุงรัตนโกสินทร์ ระหว่าง พ.ศ. 2325-2477 เพื่อแสดงให้เห็นการเกิด การเติบโต และการเปลี่ยนแปลงของนาฎยศิลป์ไทยชนิดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมโยงกันอย่างเป็นเอกภาพ โดยเน้นนาฎยศิลป์ที่ใช้มนุษย์เป็นผู้แสดง
ุจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดปาฐกถาชุดปรีชาญาณสยามครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 โดยครั้งแรกจัดเรื่อง "มหาธาตุ" โดย ศ.นพ.วิชัย โปษยจินดา เมื่อ 7 สิงหาคม 2534 ครั้งที่ 2 เรื่อง "สถาปัตยกรรมไทย" โดย ศ.ม.ร.ว.แน่งน้อย ศักดิ์ศรี เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2538 และครั้งที่ 3 เรื่อง "กาลเทศะสถาปัตยกรรมไทย" โดย รศ.ภิญโญ สุวรรณคีรี เมื่อ 3 สิงหาคม 2538 ทั้งนี้เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการบุกเบิก สร้างสรรค์ ค้นคว้าวิจัยวิทยาการทั้งปวงอันเนื่องด้วยอารยธรรมของชนชาวไทย ช่วยให้คนไทยเกิดความซาบซึ้ง ภาคภูมิใจในความเป็นไทย ซึ่งจะส่งผลสู่การพัฒนาชาติไทยเป็นการถาวรสืบไป--จบ--