กรุงเทพฯ--5 ต.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
อีกครั้งที่เยาวชนจากประเทศไทยได้สร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจในด้านการศึกษานานาชาติ ท่ามกลางความปิติยินดี ร.ร.นานาชาติได้จัดงานฉลองวาระครบ 20 ปี และพิธีมอบรางวัลเกียรติยศแก่ 4 เยาวชน ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยมีท่านองคมนตรี ม.ร.ว.เทพกมล - คุณหญิงขวัญตา เทวกุล, มร.ดาโชวโลเด จามโชว อุปฑูตราชอาณาจักรภูฏาน, ฯพณฯ มร.จูดี้ โอกาฟอร์ เอกอัครราชทูตไนจีเรีย, คุณสมบัติ เลาหะพงศ์ชนะ กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ประเทศบัลแกเรีย, มร.ปีเตอร์ โฮแกน อาจารย์ใหญ่เดอะ รีเจ้นท์,บราเดอร์ มีศักดิ์ ว่องประชานุกูล,คุณทิพวรรณ และคุณขวัญชนก เตชะวิจิตร์ มาร่วมงาน ไฮไลต์บนเวทียังเต็มไปด้วยสีสันของดนตรี อาทิ ทวีเวท ศรีณรงค์ หรือดร.เป้ นักไวโอลินเลื่องชื่อแสดงไวโอลินคู่คอนแชร์โต้ เปียโนโฟร์แฮนด์ แชมเบอร์มิวสิคจากฝีมือเยาวชน
ดร.วีระชัย เตชะวิจิตร์ ประธานกรรมการโรงเรียนนานาชาติเดอะรีเจ้นท์กรุงเทพ กล่าวว่า ระบบการศึกษานานาชาติ IB หรือ International Baccalaureate ได้พัฒนาจากข้อดีของระบบการศึกษาหลากหลายระบบทั่วโลกและจัดตั้งโดยองค์กรสากลชื่อ International Baccalaureate Organization หรือ IBO สำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศอังกฤษเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 1969 และเป็นที่ยอมรับจากมหาวิทยาลัยและรัฐบาลทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักสูตรการศึกษาระดับประกาศวุฒิบัตรนานาชาติ (IB Diploma Programme, IBDP) สำหรับนักเรียนอายุ 16 ถึง 19 ปี มีทั้งสิ้นเกือบ 3,000 โรงเรียน และมีนักเรียนจบหลักสูตรปีละ 150,000 คน ในปีการศึกษาที่เพิ่งผ่านไปคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนระดับวุฒิบัตรนานาชาติ IBDP นี้ทั่วโลกเฉลี่ย150,000 คนได้ 29.88 แต่ปีนี้โรงเรียนนานาชาติเดอะรีเจ้นท์กรุงเทพมีคะแนนเฉลี่ยของทั้งชั้น 36 คนอยู่ที่ 36.1 ซึ่งสูงสุดในประเทศไทยและ IBO ได้รายงานว่าสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของประเทศทุกประเทศในเอเชียยกเว้นเพียงประเทศเดียวที่ได้ 36.5 นักเรียนเดอะรีเจ้นท์ ประเทศไทย 4 คนที่ทำลายสถิติทำคะแนน IB ถึง 42 คะแนนพร้อมกันเป็นประวัติการณ์ คือ ณัฐศิตา เรืองรัตนากร, พัชระ ปิ่นโตลา, เลวอน เปโตรสยัน และเจนนี่ ซือหนง เทียน นับเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่งเนื่องจากนักเรียนที่ภาษาแม่ไม่ใช่อังกฤษและต้องเรียนทั้งหมดรวม 6 วิชาที่ยาก อีกทั้งยังมีการประเมินผลด้านทักษะปฏิบัติอีก 2 ส่วนหลัก คือ อนุวิทยานิพนธ์ 4,000 คำ (extended essay) เป็นการวัดความสามารถทางการทำวิจัยและเรียนรู้จากการค้นคว้าด้วยตัวเอง, การคิดวิเคราะห์ และตรวจสอบหาเหตุผล มองมุมต่างๆขององค์ความรู้ (Theory of knowledge ) หัวข้อจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาของโลกในปัจจุบันเช่น โลกร้อน ความจน สันติภาพของโลกที่แท้จริง เป็นต้น และการพัฒนาที่สำคัญอีกด้านหนึ่ง คือพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ การลงมือปฎิบัติและจิตอาสาการช่วยเหลือผู้อื่น (Creativity, action, service) ซึ่งเน้นให้นักเรียนเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงนอกห้องเรียนรวม 150 ชม.ตลอดระยะเวลาสองปี
มาคุยกับ 4 หนุ่มสาวคนเก่ง กันสักหน่อย คนแรก คือ น.ส.ณัฐศิตา เรืองรัตนากร (เนม) สาวน้อยวัยใสคนเก่งอายุ 18 ปี ชั้นเยียร์ 13 โรงเรียนนานาชาติเดอะรีเจ้นท์ กล่าวว่า "การทำคะแนน IB ได้ 42 และได้ข้อเสนอให้ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์เป็นจุดสูงสุดของความฝันของเนม และยิ่งเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่เพราะยังมีเพื่อนอีก 3 คนที่ทำคะแนน IB สูงถึง 42 คะแนนเท่าๆกัน อยากจะบอกเพื่อนๆว่าวันเวลาของวัยศึกษาในโรงเรียนที่มีความสุขและเป็นมิตร เป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่า ความสำเร็จของเนมมาจากความพยายาม สิ่งแวดล้อมที่ดีในโรงเรียน การสนับสนุนของคุณครูและเพื่อนนักเรียนด้วยกันที่ช่วยให้ตัวเราสามารถพัฒนาความสามารถ ได้แสดงศักยภาพเต็มที่ รวมทั้งกล้าท้าทายตัวเองในเรื่องต่างๆโดยปราศจากความกลัว ดีใจมากค่ะที่การเตรียมตัวของเราเกิดผลดี การได้เข้าเรียนด้านกฎหมายที่เคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษคงไม่ยากเกิน ที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จต่อไป เนมอยากเป็นนักกฎหมาย เพราะต้องการมีส่วนสร้างความเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการศึกษาซึ่งสามารถสร้างคนและสร้างประเทศได้ เนมมีความเห็นว่าปัญหาใหญ่ของโลกมาจากความไม่เท่าเทียมกันและการใช้ความรุนแรง ดังนั้นการปลูกจิตสำนึกด้านความรับผิดชอบต่อสังคม จะเป็นก้าวแรกในการช่วยยุติปัญหาการค้ามนุษย์ สำหรับเพื่อนๆวัยเรียน เนมอยากบอกว่า ความเป็นไปไม่ได้นั้นไม่ได้หมายถึงสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ แต่หมายถึงสิ่งที่ยังไม่ได้ทำให้สำเร็จต่างหาก"
นายพัชระ ปิ่นโตลา (พูห์) หนุ่มนักเรียนไทยคนเก่งวัย 18 ปี ชั้นเยียร์ 13 โรงเรียนนานาชาติเดอะรีเจ้นท์ กล่าวว่า "15 ปีเต็มที่ผมได้ใช้เวลาเรียนและเติบโตที่นี่เต็มไปด้วยความสุขและความอบอุ่น ผมได้เรียนรู้ถึงการตั้งใจเรียนและผลที่ได้รับ สิ่งที่ประทับใจในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา ผมโชคดีที่ได้มีโอกาสไปช่วยสอนเลขคณิตแก่น้องๆด้อยโอกาสของมูลนิธิเพื่อสังคมในกทม.ในหลักสูตร CAS ประสบการณ์นี้กระตุ้นเตือนให้เรารู้จักเผื่อแผ่ความรู้และช่วยเหลือผู้อื่นในสังคม ผมได้รับการคัดเลือกไปเรียนต่อคณะเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกาและ London School of Economics and Politicsประเทศอังกฤษ เป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจ ความจริงที่น่าขำคือก่อนหน้านี้เกรดของผมไม่ดีนัก
แต่ผมได้พยายามอย่างหนักในการศึกษาระบบ IB แล้วมันก็เป็นผล ผมเชื่อมั่นว่าเราหว่านเมล็ดอะไรไปก็จะได้เก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างนั้น บางเรื่องที่เราอ่อนก็ต้องหมั่นฝึกฝน เช่น พัฒนาเทคนิคการเขียนเรียงความซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการสมัครเรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงสูงสุดในด้านเศรษฐศาสตร์ทั้งของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ผมเชื่อว่าการศึกษาที่เปิดกว้างและช่วยให้เราได้รอบรู้ทั้งด้านวิชาการ ทักษะปฎิบัติและความรับผิดชอบต่อสังคม ทำให้คนรุ่นใหม่มีความพร้อมและแข็งแกร่งในยุคที่วิถีชิวิต เทคโนโลยีและการดำรงชีวิตเปลี่ยนแปลงรวดเร็วอย่างทุกวันนี้ ในอนาคตถ้าผมจบมหาวิทยาลัยแล้ว ผมอยากกลับมามีส่วนสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแก่ประเทศไทยในทางที่ดีขึ้น ผมคิดว่าการศึกษาจะช่วยลดช่องว่างสังคมให้เท่าเทียมกันมากขึ้น ขอบคุณคุณครูที่เป็นกำลังใจและให้ความรู้พวกเราครับ"
นายเลวอน เปโตรสยัน หนุ่มน้อยเชื้อสายอาร์เมเนียวัย 17 ปี หลานปู่ของอดีตประธานาธิบดีคนแรกผู้ก่อตั้ง สาธารณรัฐอาร์เมเนีย (Levon Ter Petrosyan) คุยกับเราว่า "การได้เดินทางมาศึกษาในประเทศไทยเป็นการเปลี่ยนชีวิตของผม ช่วยให้ผมได้วาดชีวิตของตนเอง ผมรักประเทศไทยและมีความสุขมากตลอด 4 ปี ผมได้เรียนรู้ทั้งด้านวิชาการ กิจกรรม และเรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีไทยและนานาชาติที่แตกต่างของเพื่อนๆด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อตัวผม ทั้งในการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยต่อไปและมุมมองการดำเนินชีวิตในอนาคต ผมยังจำได้ถึงวันเวลาแห่งความอุ่นใจในโรงเรียนประจำที่ผมอยู่แห่งนี้ หลังจบการศึกษาเพื่อนๆจะแยกย้ายกันไปมีชีวิตในมหาวิทยาลัยต่างๆและเดินไปบนเส้นทางชีวิตที่ตนเองเลือก แต่มิตรภาพยังคงอยู่ ผมจึงมีเพื่อนอยู่ทั่วโลก ส่วนตัวผมนั้น ต้องกลับไปรับใช้ประเทศอาร์เมเนียโดยการเป็นทหาร 2 ปิ จากนั้นผมจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดในคณะเศรษฐศาสตร์และการเมือง เป็นความภาคภูมิใจที่ตัวเราได้ทุ่มเทกับการเรียนมาอย่างเต็มที่ ผมรู้ซึ้งถึงคุณค่าของความเป็นคนที่รอบด้าน (Well-Rounded Person) ผมใฝ่ฝันอยากเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียง หรือไม่ก็เป็นนักการเมืองที่มีส่วนพัฒนาประเทศของผม ปัญหาใหญ่ของโลกคือคอรัปชั่น เราต้องช่วยกันแก้ไขในแต่ละประเทศด้วยวิธีการที่เหมาะสมแตกต่างกันไป ความมุ่งมั่นจะทำให้เราประสบความสำเร็จในวันข้างหน้าเสมอ อยากจะบอกเพื่อนนักเรียนว่า ให้เชื่อฟังคำแนะนำดีๆจากคุณครูของคุณ ผมขอบคุณ ดร.วีระชัย ที่ให้โอกาสผมมาเรียนที่นี่และผมรักครูทุกคนที่นี่"
น.ส.เจนนี่ ซือหนง เทียน สาวน้อยเชื้อสายจีน วัย18 ปี โรงเรียนนานาชาติเดอะรีเจ้นท์ ชั้นเยียร์ 13 กล่าวว่า " ถึงแม้หนูจะเข้ามาเรียนที่นี่ได้เพียง 2 ปี แต่ก็สามารถปรับตัวได้เป็นอย่างดีโดยมีคุณครูช่วยแนะแนวทางอยู่เสมอทำให้เข้าใจหลักสูตร IBมากขึ้น การทำงานที่คุณครูมอบหมาย เราต้องค้นคว้าและมีความพยายามในการทำงานให้เสร็จตามที่มอบหมายเสมอ เพื่อนๆก็มีส่วนช่วยแบ่งปันความรู้และร่วมแก้ปัญหา หนูเคยเขียนบทความไม่ได้ ก็มีเพื่อนนี่แหละทีเป็นกำลังใจและคอยกระตุ้นให้เราคิดหาวิถีทางทำความเข้าใจและทำมันได้สำเร็จ หนูได้รับคัดเลือกเข้าเรียนต่อในคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่ มหาวิทยาลัย ยู ซี แอล ประเทศอังกฤษ การได้เรียนรู้ความแตกต่างของ IB กับ A- Level ก็นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่หนูจะนำไปใช้ในการเขียนรายงานห้องปฏิบัติการในระดับมหาวิทยาลัยต่อไป อาชีพในฝันของหนู อยากมีโรงเรียนของตนเองในประเทศจีน หนูพบว่าระบบสร้างเสริมประสบการณ์เป็นสิ่งสำคัญและเกิดประโยชน์มากกว่าการศึกษาแบบมุ่งเน้นวิชาการด้านเดียว ในอนาคตวันหนึ่งข้างหน้าหนูต้องการผสมผสานข้อดีของทั้ง2 ระบบการศึกษามาเป็นระบบของหนูเอง ถึงมันจะเป็นเรื่องยากแต่หนูก็ฝันที่จะทำมัน ปัจจุบันประธานาธิบดีของจีนกำลังรณรงค์ปราบคอรัปชั่นไม่ว่าจะเป็นคนตำแหน่งใหญ่หรือตัวเล็กตัวน้อย รวมทั้งมาตรการในการพัฒนาความมั่นคงของตลาดหุ้น แต่ละประเทศล้วนทีมีพื้นฐานความเป็นมาและวัฒนธรรมที่ต่างกัน หนูหวังว่าประเทศตะวันตกจะเข้าใจประเทศจีนในความแตกต่างอย่างที่จีนเป็น เช่นเดียวกับสิ่งที่ผู้อื่นควรจะเป็น ความเข้าใจและช่วยเหลือกันเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเสมอค่ะ"
นับเป็นพลังคนรุ่นใหม่ที่จะร่วมเปลี่ยนแปลงประเทศและโลกให้น่าอยู่ขึ้น สู่ความก้าวหน้า มิตรภาพและสันติสุข