SCN เล็งจับมือโอซาก้า แก๊ส ขยายธุรกิจ iCNG สู่โรงงานอุตสาหกรรมตามแนวท่อ ด้าน บล.กรุงศรี เชียร์ซื้อ คงเป้าหมายที่ 17 บาทต่อหุ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 5, 2015 10:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ต.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ สแกน อินเตอร์ หรือ SCN ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติแบบครบวงจร เล็งจับมือ 'โอพีจี เอนเนอร์ยี่ โซลูชั่น' ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างโอซาก้า แก๊ส (ประเทศไทย) และ ปตท. ลุยธุรกิจ iCNG ไปยังกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมตามแนวท่อก๊าซ หลังเริ่มโครงการนำร่องส่งก๊าซธรรมชาติให้แก่โรงงานรถยนต์ฮอนด้า ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างท่อก๊าซเข้าสู่โรงงาน หนุน SCN เป็นผู้ให้บริการขนส่งก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมเต็มตัว ด้าน บล.กรุงศรี ออกบทวิเคราะห์เชียร์ซื้อ ยันยืนราคาเป้าหมายเท่าเดิมที่ 17 บาท ย้ำชัดบริษัทฯ ย่อยของ ปตท.ไม่ใช่คู่แข่งของ SCN ในการดำเนินธุรกิจ iCNG ดร.ฤทธี กิจพิพิธ กรรมการบริหาร ผู้อำนวยการสายงานบริหารและการตลาด บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN ผู้ประกอบธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติแบบครบวงจร เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เตรียมเข้าหารือกับโอซาก้า แก๊ส (ประเทศไทย) เพื่อร่วมกันพัฒนาธุรกิจผลิตและจำหน่ายก๊าซธรรมชาติให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ตามแนวท่อก๊าซให้มีประสิทธิภาพและสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมได้อย่างสูงสุด เนื่องจากที่ผ่านมา การลงทุนดำเนินการเชื่อมท่อก๊าซเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมตามแนวท่อก๊าซนั้น จำเป็นต้องใช้เวลาในการดำเนินการต่อท่อก๊าซ และแต่ละโครงการต้องผ่านการอนุมัติการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ปี จึงจะสามารถทดสอบระบบการจ่ายก๊าซเข้าสู่โรงงานได้ จึงเป็นโอกาสของ SCN ที่ขยายธุรกิจ iCNG ไปยังโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ตามแนวท่อก๊าซที่ต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง โดย SCN จะเข้าไปผลิตและจำหน่ายก๊าซธรรมชาติเพื่อจัดส่งให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ตามแนวท่อก๊าซในระหว่างที่ดำเนินการต่อท่อก๊าซ เพื่อให้โรงงานได้เริ่มทดลองระบบและทดสอบการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงก่อนที่จะดำเนินการเชื่อมต่อท่อก๊าซธรรมชาติเข้าสู่โรงงานเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงโดยตรง "เดิมทีหลายคนอาจมองว่า การที่โอซาก้า แก๊สและ ปตท. ร่วมกันลงทุนต่อท่อก๊าซเข้าสู่ตัวโรงงานที่ตั้งอยู่ตามแนวท่อก๊าซหลักของ ปตท.นั้น จะมาเป็นคู่แข่งในธุรกิจ iCNG ของ SCN แต่แท้จริงแล้ว เนื่องจากกลุ่มโรงงานดังกล่าวไม่ใช่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของธุรกิจ iCNG ของเรา แต่กลับเป็นโอกาสของเราในการรุกขยายธุรกิจ iCNG เข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ตามแนวท่อก๊าซเหล่านี้ ที่จะให้บริการ iCNG ไปสู่ลูกค้าในระหว่างดำเนินการก่อสร้างท่อก๊าซเข้าสู่โรงงาน ซึ่งทำให้ SCN ก้าวสู่ Service Provider ด้านการให้บริการก๊าซธรรมชาติสู่โรงงานอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัว" ดร.ฤทธี กล่าว สำหรับก่อนหน้านี้ SCN และโอซาก้า แก๊ส ได้เริ่มดำเนินโครงการนำร่องที่เป็นความร่วมมือระหว่างกันแล้ว โดย SCN ได้ผลิตและจำหน่ายก๊าซธรรมชาติให้แก่โรงงานรถยนต์ฮอนด้า ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างท่อก๊าซเพื่อเชื่อมต่อเข้าสู่โรงงานและคาดว่าในอนาคตจะขยายไปยังโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่อยู่ตามแนวท่อก๊าซเพิ่มเติมอีกด้วย ด้านบทวิเคราะห์ของ บล.กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ที่มีมุมมองต่อธุรกิจ iCNG ของ SCN ในการให้บริการก๊าซธรรมชาติกับลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งตั้งอยู่ห่างจากแนวท่อก๊าซโดยอาศัยเครือข่ายรถบรรทุกน้ำมันของบริษัทฯ ด้วยจุดแข็งของเทคโนโลยี PRS (Pressure Reducing Systems) ซึ่งบริษัทฯ จดทะเบียนได้ทำการจดสิทธิบัตรไว้อายุ 15ปี ที่ทำให้ธุรกิจ iCNG ของ SCN ยังเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ขณะที่บริษัท OGP Energy Solution จำกัด ที่เป็นบริษัทฯ ร่วมทุนระหว่าง โอซ้า แก๊ส และ ปตท.นั้น จะเน้นไปที่ลูกค้าที่อยู่ตามแนวท่อก๊าซเป็นหลัก โดยการสร้างท่อก๊าซย่อยซึ่งจะแตกไปจากแนวท่อหลักแล้วส่งไปยังลูกค้าอุตสาหกรรม ดังนั้น SCN และ OGP จึงมีกลุ่มเป้าหมายลูกค้าคนละกลุ่มที่แยกออกจากกันชัดเจน นอกจากนี้ การขยายท่อต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปีเพื่อก่อสร้างแนวท่อก๊าซเนื่องจากต้องขอใบอนุญาตด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) จึงยังคงสมมติฐานอัตราการเติบโตของปริมาณยอดขายธุรกิจ iCNG ของ SCN ได้ตามเป้าหมาย ดังนั้น จึงแนะนำซื้อและราคาเป้าหมายไว้ที่ 17 บาทเช่นเดิม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ