กรุงเทพฯ--5 ต.ค.--กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี
"นักศึกษาชั้นปีที่ 1 2 และ 3 ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จิตอาสาลงพื้นที่ซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้าเบื้องต้นให้กับชุมชนการเคหะแห่งชาติ คลอง 9 อำเภอธัญบุรี และ ชุมชนการเคหะแห่งชาติ พหลโยธิน นวนคร"
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญยัง ปลั่งกลาง รองหัวหน้าฝ่ายพัฒนานักศึกษา เปิดเผยว่า นโยบายพัฒนานักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ว่าด้วยความสามารถในการปฏิบัติงานและมีจิตอาสาในการทำงานนั้น โดยทางภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าต้องการนำความรู้ด้านวิศวกรรมไฟฟ้ามาช่วยเหลือชุมชน โครงการจิตอาสาไฟฟ้าพัฒนาชุมชนการเคหะแห่งชาติ การใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์สูงสุดและนำความรู้สู่ชุมชนซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้าเบื้องต้นให้กับชุมชนให้คำแนะนำและดูแลระบบไฟฟ้าภายในบ้านให้กับชุมชน เป็นการสร้างจิตอาสาให้กับนักศึกษา และนักศึกษาและอาจารย์ของมหาวิทยาลัยฯ มีความร่วมมือกับชุมชน โดยพื้นที่ให้บริการ ชุมชนการเคหะแห่งชาติ คลอง 9 อำเภอธัญบุรี และ ชุมชนการเคหะแห่งชาติ พหลโยธิน นวนคร โดยมีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการจำนวน 30 คน อาจารย์ 3 คน
"โอม" นายณัฐพงษ์ ศรีสวัสดิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 (หลักสูตรต่อเนื่อง) เล่าว่า สมัครใจที่จะเข้าร่วมโครงการ เนื่องจากตั้งแต่เรียนอยู่ในระดับ ปวส. จะออกทำกิจกรรมกับทางวิทยาลัย ความรู้ที่เรียนสามารถนำไปช่วยเหลือผู้อื่นได้ ทุกครั้งที่ลงพื้นที่ประทับใจน้ำใจของชาวบ้าน ถึงแม้ไม่ใช่เงินในการตอบแทน แต่เป็นอาหารการกินที่ชาวบ้านเตรียมไว้ให้ เป็นน้ำใจของชาวบ้านที่ตอบแทนตนเอง เช่นกันกับ 2 พื้นที่ ที่ตนเองได้ลงไปให้บริการ "ตนเองได้ฝึกทักษะในการปฏิบัติงานจริง ฝึกการแก้ปัญหาจากหน้างานจริง"
ทางด้าน "เอิร์ท" นายศาศวัต วงษ์เคี่ยม นักศึกษาชั้นปีที่ 2 (หลักสูตรต่อเนื่อง) เล่าว่า เป็นครั้งแรกที่ตนเองได้ลงพื้นที่ในการให้บริการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าแก่ชาวบ้าน โครงการนี้ทำให้ตนเองได้รู้ถึงปัญหาที่เกิดกับเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ในเครื่องใช้ไฟฟ้า "จากการสังเกตชาวบ้านให้ความสนใจในการนำเครื่องใช้ไฟฟ้ามาซ่อมเยอะมาก ดีใจที่ได้ช่วยเหลือชาวบ้าน" ในยุคที่เศรษฐกิจไม่ดี อย่างน้อยได้ช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายให้กับชาวบ้าน
"แชมป์" นายสุชีวา ศรีสุชาติ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 (หลักสูตรต่อเนื่อง) เล่าว่า ทุกครั้งที่วิทยาลัยออกให้บริการ ตนเองจะอาสาออกให้บริการกับวิทยาลัยทุกครั้ง "การที่เราให้ เป็นการเพิ่มรอยยิ้ม เพิ่มความสุขให้กับเพื่อนมนุษย์ รอยยิ้มของเพื่อนมนุษย์ คือกำลังใจของจิตอาสา" ได้พูดคุยกับชาวบ้าน ชาวบ้านอยากให้มีโครงการอีกหลายๆ วัน เครื่องใช้ไฟฟ้าของชาวบ้านบางคนใช้มานานกว่า 10 ปี ตนเองจึงแนะนำให้เปลี่ยนใหม่ เพราะว่าอาจเกิดอันตรายได้
"พฤติ" นายวรรณพฤติ ช่วยเนียม นักศึกษาชั้นปีที่ 1 (หลักสูตรต่อเนื่อง) เล่าว่า ได้เรียนรู้วิถีชุมชนทั้ง 2 ชุมชน ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ได้เรียนรู้การแก้ปัญหาจริง ชาวบ้านเป็นกันเอง เหมือนเป็นลูกหลาน ถ้าคณะจัดครั้งหน้ารับรองจะเข้าร่วมโครงการอีก ประสบการณ์ในการออกจิตอาสาในครั้งนี้ ทำให้เข้าใจถึงการให้กับผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน สำหรับใครที่อยากเป็นจิตอาสา มีกิจกรรมมากมาย อยากให้ทุกคนลองทำดู เป็นการผ่อนคลายการเรียนด้วยครับ
นอกจากจิตสำนึกทางด้านอาสาแล้ว นักศึกษายังได้สัมผัส ได้เรียนรู้วิถีชุมชน การมีปฏิสัมพันธ์ต่อสังคม รู้จักการให้ การแบ่งปัน เพิ่มทักษะทางสังคมตามนโนบายหลักของมหาวิทยาลัย