สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ฯ ชี้“การประกันและควบคุมคุณภาพวัคซีน” เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศ

ข่าวทั่วไป Monday October 5, 2015 14:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ต.ค.--โฟร์ พี แอดส์ (96) สถาบันวัคซีนแห่งชาติฯชี้!!"การประกันและควบคุมคุณภาพวัคซีน"เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศ และเป็นการดำเนินงานตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ด้านวัคซีนแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพและความปลอดภัยตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก สามารถใช้ในการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันและป้องกันจากโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนอย่างทั่วถึงและเสมอภาค ดร.นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน)กล่าวว่า ประเทศไทยมีการจัดทำนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ด้านวัคซีนแห่งชาติมาแล้วกว่า 10 ปี เพื่อเป็นกรอบสำหรับการพัฒนางานด้านวัคซีนของประเทศและการประสานความร่วมมือกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานด้านการวิจัยและพัฒนา การผลิต การประกันและควบคุมคุณภาพ และการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค รวมทั้งการส่งเสริมการลงทุนด้านวัคซีนในภาครัฐและเอกชน ซึ่งสถาบันวัคซีนแห่งชาติจะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการบริหารขับเคลื่อนนโยบายและแผนยุทธศาสตร์วัคซีนแห่งชาติ ส่งเสริมความร่วมมือในการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนระหว่างหน่วยงานต่างๆในประเทศและต่างประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนอย่างครบวงจรให้บรรลุเป้าหมายของนโยบายวัคซีนแห่งชาติอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการพึ่งพาตนเองและความมั่นคงด้านวัคซีนในระยะยาว นอกจากนี้เพื่อหลักประกันว่าวัคซีนที่นำมาใช้ในการปกป้องสุขภาพของประชาชนต้องเป็นวัคซีนที่มีทั้งคุณภาพ ได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัย สถาบันวัคซีนแห่งชาติฯได้มีการประสานความร่วมกับสถาบันชีววัตถุกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการกลางภาครัฐเพียงแห่งเดียวของประเทศในการทำหน้าที่สนับสนุนการประกันและควบคุมคุณภาพวัคซีน ซึ่ง"การประกันและควบคุมคุณภาพวัคซีน"เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศ และเป็นการดำเนินงานตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ด้านวัคซีนแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากลขององค์การอนามัยโลก สามารถนำมาใช้ในการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคและการป้องกันจากโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนได้อย่างทั่วถึงและเสมอภาค ด้านดร.สุภาพร ภูมิอมร นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มชีววัตถุมาตรฐานสถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่าสถาบันชีววัตถุได้ดำเนินการร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติในเรื่องของการประกันและควบคุมคุณภาพวัคซีนทั้งที่ผลิตในประเทศและวัคซีนที่นำเข้าจากต่างประเทศ ในขณะที่สถาบันวัคซีนจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการดึงเอาหน่วยงานควบคุมกำกับดูแล และดึงหน่วยงานที่เป็น R&D (Research and development) มหาวิทยาลัย และผู้ผลิต เข้ามาร่วมกันกำหนดแนวทางการพัฒนางานด้านวัคซีนของประเทศ โดยสถาบันชีววัตถุมีกิจกรรมหลัก 6 ด้านได้แก่ การประเมินคุณภาพชีววัตถุและการประเมินความเสี่ยงผลิตภัณฑ์ ชีววัตถุเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ให้บริการการตรวจวิเคราะห์คุณภาพชีววัตถุ วิจัยและพัฒนาด้านชีววัตถุ จัดทำเกณฑ์มาตรฐานและสารมาตรฐานด้านชีววัตถุการพัฒนาห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านชีววัตถุและการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านชีววัตถุ มีผลิตภัณฑ์ชีววัตถุที่ดำเนินการในปัจจุบันได้แก่ วัคซีนสำหรับมนุษย์ วัคซีนไข้หวัดนกสำหรับสัตว์ เซรุ่ม แอนติท็อกซิน ผลิตภัณฑ์เลือด ชีววัตถุเพื่อการรักษา และชีววัตถุที่ใช้โดยตรงกับร่างกายมนุษย์เพื่อการวินิจฉัยโรค อย่างไรก็ตามการประกันและควบคุมคุณภาพวัคซีนนั้นมีความแตกต่างจากยาเพราะต้องตรวจสอบคุณภาพวัคซีนในทุกรุ่นที่ผลิต (Lot release)โดยการทดสอบความแรง ทดสอบมาตรฐานต่างๆ ซึ่งสถาบันชีววัตถุจะได้อำนาจการตรวจผ่านทาง อย. ในเรื่องของการรับรองรุ่นของการผลิต และการตรวจในห้องปฏิบัติการ เมื่อได้วัคซีนจากผู้ผลิตก็จะนำมาผ่านกระบวนการตรวจหาค่ามาตรฐานที่กำหนดเอาไว้ และต้องศึกษาการเก็บวัคซีนด้วยว่าอายุของวัคซีนมีอายุเท่าไหร่ สามารถใช้ได้กี่ปี โดยทางสถาบันจะเตรียม Working Reference Standard เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการกำกับควบคุมคุณภาพของวัคซีนนั้นๆ ดร.สุภาพรกล่าวต่ออีกว่าเห็นด้วยกับการที่ประเทศไทยควรมีวัคซีนเป็นของตัวเอง เพราะเราต้องพึ่งพาตนเอง เนื่องจากบางโรคเป็นปัญหาสำหรับเราแต่อาจไม่เป็นปัญหาสำหรับเขา เขาจึงไม่ผลิตวัคซีน ถ้าเรามีวัคซีนไว้ใช้ภายในประเทศและมีหน่วยงานควบคุมกำกับที่ดี ทั้ง อย.และสถาบันชีววัตถุ เราก็สามารถสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศได้ ว่าวัคซีนที่ใช้ในประเทศมีคุณภาพได้มาตรฐาน ประเทศไทยเรามีศักยภาพที่จะผลิตวัคซีนได้เอง อย่างเช่น เด็งกี่วัคซีน (วัคซีนไข้เลือดออก) เพราะมีอาจารย์ในระดับมหาวิทยาลัยและอีกหลายหน่วยงานร่วมกันพัฒนาอยู่ในขณะนี้ เพื่อจะต่อยอดไปสู่การผลิตในอนาคต "จึงอยากให้ภาครัฐมองในภาพรวมว่าการพัฒนางานด้านวัคซีนของประเทศจะเดินหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทุกฝ่ายและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องงร่วมมือกัน ไม่ใช่แบ่งแยกกันว่าหน่วยงานควบคุมกำกับดูแลไม่ควรลงไปให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ เพราะองค์การอนามัยโลกมีคำถามตลอดว่าหน่วยงานได้ลงไปให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการหรือไม่ และประเทศช่วยผู้ผลิตอย่างไร เพราะฉะนั้นอะไรที่จะสนับสนุนให้กันได้ก็จะนำพางานด้านวัคซีนของประเทศให้ก้าวหน้าได้อย่างแน่นอน"ดร.สุภาพรกล่าวในตอนท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ