กรุงเทพฯ--6 ต.ค.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ "AA" จาก "AA-" ด้วยแนวโน้ม "Stable" หรือ "คงที่" โดยอันดับเครดิตที่เพิ่มขึ้นสะท้อนถึงคุณภาพอันดับเครดิตที่เข้มแข็งขึ้นของบริษัทซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ ได้แก่ ผลประกอบการที่แข็งแกร่ง กระแสเงินสดที่เติบโตขึ้น สถานะทางการเงินที่ดีขึ้น และกลุ่มสินค้าเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ของบริษัทที่แข็งแกร่งขึ้น อันดับเครดิตยังได้รับแรงหนุนจากสถานะผู้นำของบริษัทในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย การขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศที่เติบโตขึ้น และคณะผู้บริหารที่มีความสามารถและมากประสบการณ์ด้วยเช่นกัน การผสานพลังทางธุรกิจกับ Fraser and Neave Limited (F&N) ช่วยขยายเพิ่มการใช้ทรัพยากรภายในกลุ่มบริษัทได้ดียิ่งขึ้น และยังช่วยลดเวลาในการออกสินค้าใหม่อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกดังกล่าวมีข้อจำกัดบางส่วนจากผลกระทบของสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันรุนแรง ตลอดจนกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นและแนวโน้มการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังดำรงสถานะที่แข็งแกร่งในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในประเทศได้ต่อไปและคงผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินที่ดีไว้ได้
อันดับเครดิตอาจได้รับแรงกดดันให้ต้องปรับลดลงหากสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงเป็นระยะเวลาต่อเนื่องอันเป็นผลมาจากการทำกำไรที่แย่ลงหรือการใช้เงินกู้เชิงรุก ในขณะที่การปรับเพิ่มอันดับเครดิตยังไม่น่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาอันใกล้นี้
บริษัทไทยเบฟเวอเรจก่อตั้งในปี 2546 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (Singapore Exchange -- SGX) ในปี 2549 โดยมีตระกูลสิริวัฒนภักดีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ณ เดือนเมษายน 2558 ในสัดส่วน 68% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท บริษัทไทยเบฟเวอเรจเป็นผู้ประกอบการชั้นนำในธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารในประเทศไทย บริษัทยังได้ขยายธุรกิจไปยังตลาดภูมิภาคโดยผ่านการควบรวมและซื้อกิจการต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการซื้อกิจการของ F&N ซึ่งบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 28.5% และ TCC Assets Limited ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 59.4% โดย F&N ช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้แก่สถานะทางธุรกิจของกลุ่มบริษัทไทยเบฟเวอเรจในตลาดสิงคโปร์และมาเลเซีย
สถานะทางธุรกิจที่แข็งแรงของบริษัทสะท้อนถึงความเป็นผู้นำในแต่ละธุรกิจของบริษัท โดยบริษัทครองส่วนแบ่งทางการตลาดในเชิงปริมาณของตลาดสุราสีในประเทศไทย (Off-trade) ประมาณ 95% และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่จำนวน 2 รายของประเทศ โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดเกือบ 30% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นผู้นำในตลาดชาเขียวพร้อมดื่มและมีสินค้าที่หลากหลายในกลุ่มเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ซึ่งรวมถึงสินค้าที่เพิ่งออกสู่ตลาด เช่น "เอส" (est) และ "จับใจ" (Jubjai) ด้วย ส่วนธุรกิจของ F&N ซึ่งเน้นสินค้าในกลุ่มเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ นอกจากจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับสินค้าในธุรกิจดังกล่าวของบริษัทไทยเบฟเวอเรจแล้ว ยังช่วยขยายตลาดไปสู่ประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียได้อีกด้วย ตราสัญลักษณ์สินค้าหลักของกลุ่มบริษัท ได้แก่ "รวงข้าว" "หงส์ทอง" และ"เบลนด์ 285" สำหรับกลุ่มเครื่องดื่มสุรา นอกจากนี้ ยังมี "ช้าง" สำหรับเบียร์ "โออิชิ" สำหรับเครื่องดื่มชาเขียว และ "เอส" สำหรับเครื่องดื่มน้ำอัดลม รวมถึง "100PLUS" และ "NutriSoy" ของ F&N สำหรับธุรกิจอาหารนั้นมี บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทหลักในการบริหารและดำเนินงานเครือภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น รวมทั้งจำหน่ายอาหารแช่แข็งและแช่เย็น และให้บริการจัดส่งอาหาร ณ เดือนมิถุนายน 2558 บริษัทมีเครือภัตตาคารรวม 226 สาขา ซึ่งเครือร้านอาหารหลัก คือ ร้านชาบูชิ (Shabushi) และโออิชิ ราเมน (Oishi Ramen)
โรงงานผลิตของบริษัทในประเทศไทยประกอบด้วย โรงกลั่นสุรา 18 แห่ง โรงเบียร์ 3 แห่ง โรงผลิตเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ 10 แห่ง และครัวกลางอีก 1 แห่ง นอกจากนี้ บริษัทยังมีโรงกลั่นวิสกี้ 5 แห่งในสกอตแลนด์และโรงกลั่นสุราอีก 1 แห่งในประเทศจีนด้วย กลุ่มบริษัทมีเครือข่ายการกระจายสินค้าที่กว้างขวางครอบคลุมร้านจำหน่ายมากกว่า 400,000 แห่งทั่วประเทศ ความร่วมมือกับ F&N นอกจากจะช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์ให้มีหลากหลายและพอเพียงกับความต้องการแล้ว ยังช่วยให้สินค้าของกลุ่มบริษัทเข้าสู่ตลาดสิงคโปร์และมาเลเซียซึ่งเป็นตลาดหลักของ F&N ได้ในเวลาอันรวดเร็วอีกด้วย บริษัทไทยเบฟเวอเรจได้เริ่มทำการผลิตและจำหน่าย "100PLUS" น้ำอัดลมเกลือแร่ของ F&N ในประเทศไทยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2558 ในขณะเดียวกัน ทาง F&N ก็ได้ทำการตลาดเครื่องดื่ม "เอส" ในประเทศมาเลเซียซึ่งจะทำให้เกิดการผสานพลังและประสิทธิภาพในด้านต้นทุนให้แก่กลุ่มบริษัทในแง่ของการเพิ่มการใช้ประโยชน์จากโรงงานผลิตและการใช้ค่าใช้จ่ายทางการตลาดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้วยเช่นกัน
บริษัทมีรายได้รวม 162,040 ล้านบาทในปี 2557 และ 84,697 ล้านบาทสำหรับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 ธุรกิจสุราเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้และกำไรหลักให้แก่บริษัทซึ่งคิดเป็นประมาณ 63% ของรายได้รวม และสร้างกำไรประมาณ 90% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน (กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ในระดับที่ค่อนข้างเสถียรที่ 16%-17% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยได้รับแรงหนุนจากการทำกำไรที่แข็งแกร่งในธุรกิจสุราเป็นสำคัญ สำหรับธุรกิจอาหารถึงแม้ว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานอยู่ในระดับไม่สูง แต่อุปสงค์ที่มีต่อธุรกิจอาหารก็มีเสถียรภาพและยืดหยุ่นดี อัตรากำไรในธุรกิจอาหารได้รับผลกระทบไม่มากจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา โดยลดลงจาก 10% ในปี 2556 มาอยู่ที่ประมาณ 8% ในปี 2557 และในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 ธุรกิจเบียร์ค่อย ๆ ฟื้นตัวและกลับมาทำกำไรได้อีก ในขณะที่ธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ยังแสดงผลขาดทุนอันเป็นผลจากการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดเครื่องดื่มน้ำอัดลม ซึ่งทำให้บริษัทต้องใช้ค่าใช้จ่ายในการสร้างตราสินค้า "เอส" อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการแนะนำเครื่องดื่ม "100PLUS" และ
"จับใจ" ที่เพิ่งออกจำหน่ายใหม่อีกส่วนหนึ่งด้วย
เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 18,743 ล้านบาทในปี 2556 มาอยู่ที่ระดับประมาณ 22,000 ล้านบาทต่อปีในปี 2557 และ 2558 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมปรับเพิ่มขึ้นจาก 28% เป็น 44% ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน บริษัทมีภาระหนี้สินระยะยาวที่ต้องชำระ ประมาณ 10,000 ล้านบาทในปี 2559 และอีก 11,000 ล้านบาทในปี 2560 สถานะสภาพคล่องของบริษัทยังได้รับแรงหนุนจากเงินสดจำนวน 1,909 ล้านบาทและสินค้าคงคลังประเภทสุราที่ผลิตแล้วเสร็จอีกจำนวน 10,497 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกประมาณ 50,000 ล้านบาทด้วย
ในช่วงปี 2559-2561 ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตจากธุรกิจหลักของบริษัทโดยเฉลี่ย 5% ต่อปี โดยคาดว่าอุปสงค์ของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะค่อย ๆ เติบโต ในขณะที่การรับรู้ของผู้บริโภคต่อตราสินค้า "เอส" จะค่อย ๆ ปรับดีขึ้น ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรของบริษัทจะสูงกว่า 16.5% โดยได้รับแรงหนุนจากการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่องของบริษัท แต่ค่าใช้จ่ายทางการตลาดจะยังคงไว้ในระดับสูงเพื่อใช้ตอบโต้คู่แข่งในการแข่งขันและสร้างความแข็งแกร่งของตราสินค้าในกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานเติบโตในช่วง 24,000-33,000 ล้านบาทต่อปี โดยเป็นจากผลการดำเนินงานของธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ที่ดีขึ้นซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการได้รับประโยชน์จาก F&N เงินกู้รวมของบริษัทอยู่ที่ 50,261 ล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2558 โดยลดลงครึ่งหนึ่งจากช่วงที่มีบริษัทมีระดับหนี้สูงสุดในปี 2555 ระดับหนี้ลดลงได้อย่างรวดเร็วกว่าที่คาดไว้เนื่องจากบริษัทชำระคืนหนี้ก่อนกำหนดในช่วงปี 2556-2557 เป็นผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจาก 55% ในปี 2555 เป็น 32% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนในช่วงปี 2559-2561 โดยรวมประมาณ 15,000 ล้านบาทเพื่อใช้ขยายโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและขยายเครือข่ายการจัดจำหน่าย หากบริษัทไม่มีการซื้อกิจการขนาดใหญ่ทริสเรทติ้งคาดว่าในช่วงปี 2559-2561 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะอยู่ในระดับไม่เกิน 35% และอัตราส่วนหนี้สินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ต่ำกว่า 1.5 เท่าได้
บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (ThaiBev)
อันดับเครดิตองค์กร: AA
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable