กรุงเทพฯ--6 ต.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ซึ่งประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย
กกร. ประชุมสรุปภาวะเศรษฐกิจเดือนสิงหาคม พบว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมยังอ่อนแอ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าที่หดตัวแรงถึงร้อยละ 6.7 จากความต้องการจากกลุ่มประเทศ G3 และอาเซียนที่ชะลอตัว ขณะที่การท่องเที่ยว ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิดที่กรุงเทพฯ ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมขยายตัวในอัตราต่ำลงที่ร้อยละ 24.7 เทียบกับขยายตัวร้อยละ 39.4 ในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดี มีสัญญาณบวกจากการที่นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกันยายน และมีแนวโน้มกลับสู่ภาวะปกติซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นได้ในอีก 1 เดือน
สำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศปรับดีขึ้นเล็กน้อย โดยบริโภคภาคเอกชนกระเตื้องขึ้นในหมวดการใช้จ่ายสินค้าไม่คงทนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การใช้จ่ายสินค้าคงทนอย่างรถยนต์ยังคงอยู่ในระดับต่ำ เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากการลงทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคม และการลงทุนภาครัฐยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง ผ่านโครงการขนาดเล็ก
สำหรับในช่วงที่เหลือของปี กกร.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลดีจากแพ็คเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนในไตรมาสสุดท้าย วงเงินรวม 1.36 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภคของผู้มีรายได้น้อยผ่านกองทุนหมู่บ้าน และกระตุ้นการลงทุนในระดับชุมชน
อีกทั้ง มาตรการช่วยเหลือ SME ระยะเร่งด่วน ได้แก่ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 1 แสนล้านบาท การปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการค้ำประกันสินเชื่อผ่าน บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) วงเงินค้ำประกัน 1 แสนล้านบาท มาตรการสนับสนุน SMEs ผ่านการร่วมลงทุนใน SMEs ระยะเริ่มต้น (Start-up) ที่มีศักยภาพสูง มาตรการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการ SMEs และมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ (New Start-up) จะช่วยเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
โดยเราประเมินว่า เม็ดเงินจากรัฐจะเร่งเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายในระยะเวลา 1 เดือนข้างหน้า ทันกับฤดูการท่องเที่ยวในปีนี้ ทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.5-3.0 จากประมาณการเดิมที่ร้อยละ 3.0-3.5 แม้มีปัจจัยฉุดรั้งจากการส่งออกสินค้าที่มีแนวโน้มอ่อนตัวต่อเนื่อง โดยคาดส่งออกทั้งปีจะหดตัวถึงร้อยละ 5
นอกจากนั้น กกร. ยังคงให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจและประเทศอยู่ตลอด โดยในการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศใน Global Competitiveness Report 2015-16 จัดทำโดย World Economic Forum ปีนี้ ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 32 จาก 140 ประเทศ ลดลงจากอันดับที่ 31 ในปีที่แล้ว สำหรับด้านที่อันดับดีขึ้น คือ ด้านนวัตกรรม ด้านความพร้อมทางเทคโนโลยี และด้านความซับซ้อนของธุรกิจ ขณะที่อันดับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจลดถอยลง สะท้อนให้เห็นว่าเรายังมีโจทย์เรื่องการพัฒนาขีดความสามารถในแข่งขันของประเทศที่ต้องเร่งทำอีกมากทั้งนี้ กกร. จะเร่งผลักดันดำเนินการแก้ไขกระบวนการภาครัฐที่ยังเป็นอุปสรรคต่อ
ขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน รวมทั้งปัจจัยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในด้านต่างๆให้นำไปสู่การปฎิบัติจริงให้เร็วที่สุด ขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการ Competitiveness ของ กกร. โดยจะทำงานร่วมกับกลไกภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันของภาคธุรกิจ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคเอกชน ภาคประชาชนและการขับเคลื่อนประเทศ