กรุงเทพฯ--6 ต.ค.--คอร์แอนด์พีค
มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์สุดเจ๋ง นำระบบการเรียนการสอนแบบไฮบริด (Hybrid) เรียนผ่าน Google Classroomเล็งผลเลิศทางการเรียนและวางเป้าหมายชีวิตในอาชีพให้กับนักศึกษาทั้งสถาบัน เผยนอกจากนักศึกษาจะมีความรู้ด้านไอทีเพิ่มขึ้นอย่างมีทิศทางแล้ว ยังรู้จักการทำงานเป็นทีมบนโลกออนไลน์และโลกแห่งความจริง สามารถคิด วิเคราะห์ จำแนกรูปแบบงานด้วยอินเตอร์เน็ตแอพ ทั้ง Google App 4 Edu และ iTuneU
อาจารย์ณัฏฐ์ โอธนาทรัพย์ ผอ.ศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีการศึกษา และหัวหน้าสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ [IoT]มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ เปิดเผยว่าทางมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ได้เล็งเห็นความสำคัญถึงการเติบโตของเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต จึงได้นำรูปแบบการเรียนการสอนแบบไฮบริด (Hybrid) ที่เน้นให้ผู้เรียนได้เรียนแบบเชิงผสมผสานด้วยระบบ Google Classroom และ iTuneUที่เพิ่งเปิดให้ใช้ได้ประมาณ 1 ปี โดยก่อนหน้านี้เราได้ใช้ Google App For Education มาใช้กับการเรียนการสอน ในรูปแบบการเรียนการสอนเชิงผสมผสาน PBL (Project Based Learning) แทนที่เราจะเรียนเฉพาะในชั้นเรียน ฟังเลกเชอร์อย่างเดียว อาจารย์ก็จะเน้นให้นักศึกษาทำงานเป็นกลุ่ม โดยการใช้ผ่านอินเตอร์เน็ตแอพฯ เหล่านี้ ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย Google และ Apple อันเป็นเครื่องมือเพื่อการเรียนการสอนยุคใหม่ที่ทรงพลังและมีประสิทธิภาพ อาทิเช่น การทำโครงงานเป็นกลุ่มของนักศึกษา แบบ PDCA (Plan Do Check Ad) เพื่อฝึกการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม โดยเริ่มต้นจากการประชุมกลุ่มเพื่อกำหนดเรื่อง การทำแผน การดำเนินการตามแผน ตรวจสอบประเมินผล เราก็จะนำGoogle App มาประยุกต์ใช้กับการทำงานกลุ่มเหล่านี้ เพื่อให้สมาชิกกลุ่มสามารถทำงานร่วมกัน ผ่านระบบออนไลน์ ได้แบบเรียลไทม์ ตลอดเวลา ลดข้อจำกัดทางด้านสถานที่ ทำให้ทุกคนสามารถทำงานกลุ่มและสื่อสารกัน แม้จะอยู่ต่างสถานที่กัน เมื่อสมาชิกกลุ่มคนใดเพิ่มเติมแก้ไขงานลงในไฟล์ออนไลน์ของกลุ่ม เพื่อนทุกคนก็จะสามารถเห็นและรับรู้ได้แบบเรียลไทม์ ผ่านหน้าจออุปกรณ์ของตนเอง ต่างจากในอดีตที่ต้องก็อปปี้ใส่แฟลชไดรฟ์ มาให้เพื่อน มาส่ง แบบออฟไลน์ ซึ่งมีปัญหามากมาย
ด้วยการฝึกการทำงานเป็นทีม แบบออนไลน์ด้วยเครื่องมือออนไลน์เหล่านี้ เมื่อจบการศึกษาไปแล้ว นักศึกษาของเราก็จะสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างโครงงานที่นักศึกษาเราทำเช่น อีคอมเมอร์ส ซึ่งเป็นโครงงานที่นักศึกษาต้องรวมกลุ่มกันทำธุรกิจ สร้างธุรกิจขึ้นมาใหม่ โดยเริ่มต้นจาก ต้องทราบถึงความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอย่างแท้จริง เช่นธุรกิจเสื้อผ้าเด็ก ก็จะต้องไปทำสำรวจว่าลูกค้าชอบสินค้าแบบไหน กลุ่มเป้าหมายลูกค้าเราคือใคร ต้องทำมาร์เก็ตรีเสิร์ชก่อน ทำวิจัยทางการตลาด นักศึกษาก็จะใช้ กูเกิ้ลฟอร์ม เป็นเครื่องมือเก็บข้อมูล พอได้ข้อมูลมา ก็นำผลมาวิเคราะห์ว่ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายต้องการแบบไหน ด้วยกูเกิ้ลสเปรดชีต นอกจากนี้ยังต้องวางแผนทางการเงิน แหล่งเงินทุนจากที่ใด ทำการตลาดอย่างไร นักศึกษาก็จะทำงานเหล่านี้ร่วมกันได้เลยผ่าน Google App4Edu เริ่มต้นด้วยการเขียนแผนธุรกิจ เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันของสมาชิกทุกคนในกลุ่ม และมี Road Map ในการกำกับทิศทางธุรกิจ โดยเขียนใส่ Google Doc ซึ่งเป็นออนไลน์แอพที่ทรงประสิทธิภาพทำให้สมาชิกทุกคนสามารถทำงานร่วมกันได้ตลอดเวลาเรียลไทม์ ไม่มีข้อจำกัดทางด้านสถานที่ทำงาน เมื่อเขียนถูกหรือผิดตรงไหน เพื่อนคนอื่นเห็นก็จะสามารถแก้ได้เลย หรือแสดงความเห็นผ่านออนไลน์แอพได้ ทำให้สะดวกและรวดเร็ว
"ผมจะสอนเด็กให้รู้จักคิดรู้จักทำเองเป็น เค้าก็จะต้องมีการวางแผนคิดร่วมกัน วางแผนร่วมกัน แล้วก็เขียนแผนขึ้นมา บางทีเด็กเค้าไม่ได้อยู่ด้วยกัน หรืออยู่แต่ละที่ หรือจะอยู่ในห้องเรียนแต่เมื่อมีคอมพิวเตอร์ของแต่ละคน ก็จะช่วยกันทำงานไปพร้อม ๆ กัน โดยเห็นงานในหน้าจอเหมือน ๆ กัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำแล้วค่อยเอามารวมกันเหมือนอย่างในอดีต ตัวอย่างแรกคือ Google Doc ตัวนี้จะเหมือนไมโครซอฟท์เวิร์ด แต่มันจะแตกต่างคือ เด็ก 5 คนสามารถเข้าไปพิมพ์งานได้พร้อม ๆ กัน แบบเรียลไทม์ ทุกคนสามารถเข้าไปในเอกสารเดียวกัน อย่างเวิร์ดมันจะต้องทำแค่คนใดคนนึง เวลาทำเสร็จก็ต้องเซฟแล้วเอาไฟล์ออกมา แต่ระบบนี้ไม่ต้อง เพียงแค่เริ่มทำงาน ก็จะเห็นเลยว่าใครกำลังพิมพ์อะไรอยู่ มันจะบอกได้เลย เรียกว่าออนไลน์แอพลิเคชั่น เราก็ใช้เครื่องมือพวกนี้มาผสมผสานในการเรียนการสอน ทำให้เด็กสามารถใช้ IT ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แล้วคิดเองทำเองเป็น รู้จักวางแผน รู้จักเอาแผนไปทำ รู้จักประเมินการทำงานของกลุ่มตัวเอง โดยใช้เครื่องมือพวกนี้อย่างมีประสิทธิภาพ เราจึงเรียกว่า ไฮบริด โปรเจคเบสเลิร์นนิ่ง ( Hybrid Project Based Learning ) การเรียนแบบผสมผสานด้วยออนไลน์แอพลิเคชั่น เราร่วมมือกับกูเกิ้ล คือเราใช้แอพของ Google ได้ทุกอย่าง เด็กเราสามารถใช้ได้หมดเลย" อาจารย์ณัฏฐ์ กล่าวและว่า ตอนแรกมาใหม่ๆ เด็ก ๆก็เคยใช้มาบ้าง แต่ใช้แบบเดิม ๆ เช่น คือการเล่นโซเชียลมีเดีย เมื่อเราได้พัฒนาและประยุกต์การใช้เครื่องมือให้เข้ากับเด็ก เขาก็จะรู้สึกตื่นเต้น มีความสุขและรู้สึกว่าเป็นประโยชน์มาก และในระบบ Google Classroom จะไม่มีการเสียค่าใช้จ่ายในการเรียน เด็ก ๆ ใช้ฟรีหมดเลย อย่างตอนนี้การส่งการบ้านไม่ต้องส่งเป็นกระดาษ หรือเอกสารชีทต่าง ๆ สามารถส่งในgoogle drive ได้เลย ค้นหาไฟล์ได้ง่าย เสิร์ชชื่ออย่างเดียวก็เจอและตรวจงานได้แล้ว
อาจารย์ณัฏฐ์ กล่าวต่อว่า โดยพื้นฐานของนักศึกษาแล้ว การส่งเสริมให้เด็กได้เรียนแบบไฮบริด (Hybrid) เราอยากให้เด็กเราได้ใช้ไอทีเก่ง ๆ ตามอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย เมื่อเด็กเราจบออกไปแล้ว สามารถไปทำงานข้างนอกได้โดยอย่างโดดเด่นในเรื่องไอที ไม่จำเป็นต้องเป็นนักศึกษาที่เรียนด้านคอมพิวเตอร์ สายงานบริหารเราก็นำระบบนี้มาใช้และกำลังนำมาใช้ทุกคณะ ทุกภาควิชาในมหาวิทยาลัย นักศึกษาจะต้องใช้ Google App 4 Edu และ iTuneU และออนไลน์แอพอื่นๆ เป็น และอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นทักษะติดตัวไปเมื่อจบการศึกษา นักศึกษาก็มีความสุขที่ได้เรียนรู้ได้ใช้เครื่องมือใหม่ ๆ สิ่งสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือการทำงานเป็นทีม คือเวลาเราเรียนแบบโปรเจคเบส นักศึกษาจะได้วิธีการทำงานเป็นทีม การจัดการงานเป็นทีมอย่างเป็นระบบ คิดเองทำเองเป็น สามารถริเริ่มงานใหม่ได้ เวลาไปสอบสัมภาษณ์องค์กรต่าง ๆ สิ่งที่จะถามคือ ใช้เครื่องมือโปรแกรมอะไรได้บ้าง มีทักษะการทำงานเป็นทีม การทำงานร่วมกับผู้อื่นหรือไม่ นักศึกษาของเราสามารถตอบโจทย์เหล่านี้ได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถใช้เครื่องมือไอที ประยุกต์เข้ากับการทำงานเป็นทีม คิดเองทำเองเป็น โดยทุกสาขาวิชาต้องมีการเรียนการสอนแบบนี้ ขึ้นอยู่กับว่าจะนำไปปรับใช้อย่างไร