กรุงเทพฯ--7 ต.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 ร่วมเดินหน้าภาคเกษตรเข้าสู่ AEC ปลายปีนี้ เตรียมพร้อมรับผลกระทบทั้งด้านบวกและลบที่จะเกิดขึ้น มั่นใจ ภาคอีสานได้เปรียบจากจุดแข็งหลายด้าน โดยเฉพาะการเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญทางการค้า มีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจอย่างเต็มที่
นายสมมาตร ยิ่งยวด ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา (สศท.5) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า เป็นที่ทราบกันดี ว่าปลายปี 2558 กำลังจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) กันแล้ว ซึ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเรา นับว่ามีจุดแข็งหลายด้าน อย่างเช่น มีเขตแดนที่เชื่อมติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านหลายๆ ประเทศ เช่น ลาว กัมพูชา เวียดนาม ซึ่งทั้ง 3 ประเทศ มีนโยบายในการที่จะลดภาษีการค้าของสินค้าต่างๆ ในปี 2558 จึงเป็นโอกาสที่ประเทศไทยสามารถที่จะส่งสินค้าชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าทางการเกษตร หรือสินค้านอกการเกษตรชนิดต่างๆ เข้าไปค้าขายในประเทศเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปสงค์และอุปทานที่เริ่มไปลงทุนในประเทศลาว ประเทศกัมพูชา และประเทศเวียดนามบ้างแล้ว และนำสินค้านั้นๆ มาประกอบในประเทศไทย ก่อนที่จะส่งไปขายในประเทศที่ 3 ต่อไป
นอกจากนี้ นโยบายของทางภาครัฐ ที่มีการอัดฉีดงบประมาณลงมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้าให้ฟื้นคืนตัวขึ้นมามีกำลังในการขับเคลื่อนให้มากขึ้น โดยเฉพาะการจ้างแรงงานคนที่ว่างงานโครงการต่างๆ ที่มีการเสนอขึ้น ซึ่งนับว่าช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจให้มีการจับจ่ายใช้สอยเงินให้มากขึ้น
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเรา มีจุดแข็งในเรื่องที่เรามีพรหมแดนที่ติดกับประเทศในอาเซียนที่ไม่มีปัญหาในเรื่องของเศรษฐกิจ อีกทั้งเป็นภูมิภาคที่เชื่อมโยงกับประเทศที่กุมอำนาจทางด้านเศรษฐกิจทั้งประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น และประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งประเทศมหาอำนาจเหล่านี้ ต่างก็ให้ความสำคัญกับภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงทั้งสิ้น และที่สำคัญภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยยังเป็นจุดศูนย์กลางของประเทศเหล่านี้อีกด้วย จึงถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญทางการค้า มีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจที่สูงมาก
อย่างไรก็ตาม เหลือระยะเวลาอีกไม่นานที่เราจะเข้าสู่ AEC อย่างสมบูรณ์ การเตรียมความพร้อมสำหรับภาคเกษตรอย่างรอบด้านจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรประมาท เพราะผลกระทบต่างๆ ย่อมมีทั้งทางบวกและลบ ซึ่ง สศท.5 มีความพร้อมในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับข้อมูลทางด้านการเกษตรของพืช และ สัตว์เศรษฐกิจชนิดต่างๆ ที่ผลิตได้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเป็นประโยชน์กับเกษตรกร หน่วยงานภาครัฐ สถาบันทางการศึกษา รวมทั้งภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทางการเกษตรอย่างรอบด้าน ซึ่งท่านที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลด้านเศรษฐกิจการเกษตร ที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ โดยสามารถติดต่อขอรับข้อมูลได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา โทร. 044 465 120 หรือ 044 465 079 หรือ อีเมล zone5@oae.go.th