กรุงเทพ--28 ส.ค.--กทพ.
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ยืนยันโครงการทางด่วนสายบางนา-ชลบุรี ได้รับการออกแบบให้มีมาตรฐานสูงสุด และไม่ใช่ทางด่วนที่มีแนวตรงตลอดทั้งสาย โดยผู้ขับขี่ยังสามารถมองเห็นทิวทัศน์ในระยะไกลจากบนทางด่วนได้
นายสมชาย จารุเกษมรัตนะ รองผู้ว่าการฝ่ายควบคุมการก่อสร้าง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่หนังสือพิมพ์หลายฉบับได้นำเสนอข่าวว่า ทางด่วนสายบางนา-ชลบุรี ก่อสร้างผิดแบบไม่ได้มาตรฐานอัจนจะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ทางนั้น การทางพิเศษฯ ใคร่ขอยืนยันว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง เนื่องจากโครงการทางด่วนสายบางนา-ชลบุรี ได้รับการออกแบบให้มีมาตรฐานสูงสุดตามมาตรฐาน AASHTO ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้ในสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศทั่วโลก โดยการก่อสร้างโครงการทางด่วนสายดังกล่าวมีระยะทางทั้งสิ้น 55,360 กิโลเมตร และมิได้มีแนวทางตรงตลอดทั้งสายตามที่เป็นข่าว หากแต่มีช่วงที่โค้งถึง 8 แห่ง โดยช่วงที่มีแนวตรงยาวที่สุดมีระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร เท่านั้น คือ ช่วงระหว่าง กิโลเมตรที่ 23.3-กิโมตรที่ 39.5 ซึ่งระยะทางดังกล่าวยังอยู่ในระยะปลอดภัยตามมาตรฐานของสหรัฐอเมริกา
นายสมชาย ยังเปิดเผยต่อไปว่า โครงการทางด่วนสายบางนา-ชลบุรี มีทางแยกต่างระดับหรือจุดตัดกับถนนสายหลักรวม 7 แห่ง และมีด่านเก็บค่าผ่านทางขนาดใหญ่อีก 2 แห่ง ที่จุดปลายทาง ซึ่งจะช่วยจำกัดความเร็วของรถ คือ ทางแยกต่างระดับวัดศรีเอี่ยม, ด่านเก็บค่าผ่านทางของทางด่วนสายหลัก (Mainline), ทางแยกต่างระดับวงแหวนรอบนอก, ทางแยกต่างระดับบริเวณที่ตัดกับทางหลวงหมายเลข 3255, ทางแยกต่าวระดับหนองงูเห่า, ทางแยกต่างระดับบริเวณเมืองใหม่บางพลี, ทางแยกต่างระดับบริเวณที่ตัดกับถนนรัตราษฎร์, ทางแยกต่างระดับบริเวณที่ตัดกับถนนกรุงเทพ-ชลบุรีสายใหม่ ทางแยกต่างระดับบริเวณที่ตัดกับทางหลวงแผ่นดิน 314 และด่านเก็บค่าผ่านทางของทางด่วยสายหลัก (Mainline) นอกจากนี้จะมีทางแยกหลัก 7 แห่ง และมีทางขึ้น-ลง รวม 28 จุด ส่วนการก่อสร้างจะมีกำแพงกันตกกั้นขอบทางนั้นก็เพื่อป้องกันมิให้รถตกลงมาข้างล่าง ซึ่งแม้จะมีกำแพงดังกล่าว แต่ผู้ขับขี่ก็ยังสามารถมองเห็นทิวทัศน์ในระยะไกลจากบนทางด่วนได้และจะไม่เกิดอันตรายอย่างที่เป็นข่าวแต่อย่างใด
สอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองประชาสัมพันธ์ สำนักผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย โทร. 579-5176, 579-9144 โทรสาร 579-9156--จบ--