กรุงเทพฯ--7 ต.ค.--Triple J Communication
วันนี้ (7 ต.ค. 58) พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการประชุมรัฐมนตรีพลังงาน ครั้งที่ 33 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ว่า ประเทศในประชาคมอาเซียนต่างให้ความสำคัญและตระหนักถึงการใช้พลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ตลอดจนความร่วมมือระหว่างกันในการพัฒนาพลังงาน ทั้งนี้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนในเวทีโลก สำหรับประเทศไทย ผู้ประกอบการภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงชุมชนต่างๆ ได้ดำเนินการอนุรักษ์พลังงานและพัฒนามาใช้พลังงานทดแทนกันมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประเทศไทยยังคงครองแชมป์ในเวที ASEAN Energy Awards ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติยศ ด้านพลังงานของกลุ่มประเทศอาเซียน โดยในปี 2015 นี้ ประเทศไทยส่งเข้าประกวด 30 โครงการสามารถคว้ารางวัลได้ถึง 26 รางวัล จากทั้งหมด 64 รางวัล มากที่สุดใน 10 ประเทศอาเซียน ซึ่งความสำเร็จครั้งนี้เป็นความสำเร็จที่ต่อยอดจากโครงการ Thailand Energy Awards ซึ่งเป็นการประกวดด้านพลังงานของประเทศไทยที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการไทยหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานอย่างคุ้มค่า และสร้างความแข็งแกร่งด้านพลังงานของประเทศ
สำหรับตัวอย่างโครงการที่ได้รับรางวัลของประเทศไทยซึ่งมีผลงานโดดเด่นและสามารถนำไปเผยแพร่ขยายผลให้กับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี อาทิ โครงการผลิตพลังงานความร้อนร่วมจากพลังงานหมุนเวียน (Co-generation) ของ บริษัท ทิพย์สุโขทัย ไบโอเอนเนอร์ยี่ จำกัด ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ โดยเป็นการนำชานอ้อย ที่เหลือจากกระบวนการหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาล มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ โดยไฟฟ้าและไอน้ำที่ผลิตได้ส่วนใหญ่เกินกว่า 90% สามารถนำไปขายให้กับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและโรงงานน้ำตาลใกล้เคียง เพื่อใช้ในกระบวนการผลิต โครงการมีมูลค่าการลงทุนราว 1,600 ล้านบาท แต่มีระยะเวลาคืนทุนได้ภายใน 5 ปี นับเป็นตัวอย่างที่ดีของการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาผลิตเป็นพลังงานทั้งในรูปไฟฟ้าและความร้อน รวมทั้งช่วยเสริมความมั่นคงทางพลังงานในแก่โรงงานในพื้นที่ด้วย อีกตัวอย่างด้านพลังงานทดแทน ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ วังเพลิงโซลาร์ ของ บริษัท พัฒนาพลังงานธรรมชาติ จำกัด ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าขายเข้าระบบขนาดประมาณ 10 MW ที่ใช้เทคโนโลยีแผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบฟิล์มบางประสิทธิภาพสูง และบำรุงรักษาง่าย โดยเป็นตัวอย่างของโครงการ ที่สนับสนุนนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ของกระทรวงพลังงานที่สามารถดำเนินการได้จริงและ มีผลตอบแทนการลงทุนเป็นที่น่าพอใจ
นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างโครงการด้านอนุรักษ์พลังงานที่น่าสนใจ เช่น โครงการดีเด่นด้านบริหารจัดการพลังงานของโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดียิ่งของหน่วยงานภาครัฐที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญ ในการอนุรักษ์พลังงานโดยไม่มีผลกระทบต่อคุณภาพการให้บริการ ภายใต้การผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่ทุกระดับ ผ่านการสร้างจิตสำนึก รณรงค์ อบรมให้ความรู้ เพื่อค้นหาจุดรั่วไหลและการปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงาน รวมไปถึง การเผยแพร่แนวทางผลสำเร็จที่ได้ไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ที่เป็นเครือข่ายทั้งในและนอกพื้นที่ จนทำให้เกิด การขยายผลสำเร็จต่อเนื่องได้อย่างชัดเจน สำหรับตัวอย่างโครงการดีเด่นด้านบริหารจัดการ พลังงานในโรงงาน ได้แก่ บริษัท มาบตาพุดโอลิฟินส์ จำกัด ซึ่งนำระบบการบำรุงรักษาแบบทวีผล (TPM) และระบบบริหารคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (TQM) มาเป็นแนวทางหลักในการบริหารจัดการด้านพลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมุ่งเน้นดำเนินการผ่านทางการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกระดับอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมทั้งมีกระบวนการจัดการและถ่ายทอดองค์ความรู้ ด้านพลังงานที่เป็นระบบ จนทำให้มีการดำเนินมาตรการประหยัดพลังงานได้ถึง 16 มาตรการ ในช่วงปี 2555 -2557 และเกิดผลประหยัดพลังงานได้มากถึง 340 ล้านบาท จากเงินลงทุนเพียง 35 ล้านบาท
ตัวอย่างทั้งหมดที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งชอง 18 รางวัลแห่งความภาคภูมิใจของประเทศไทยจากเวที ASEAN Energy Award 2015 อย่างไรก็ดี กระทรวงพลังงานจะผลักดันให้มีการนำตัวอย่างผลสำเร็จในทุกๆ โครงการไปเผยแพร่ขยายผลและพัฒนาต่อยอดให้เกิดผลสำเร็จมากยิ่งขึ้นในวงกว้าง เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงทางพลังงานและ มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาวต่อไป
ด้าน นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า "ทั้งนี้ ความสำเร็จต่างๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากความร่วมมือจากผู้ใช้พลังงานทุกภาคส่วนที่ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยให้ความร่วมมือ และลงมือทำอย่างต่อเนื่อง จริงจัง นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและคุณภาพของคนไทยที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน และการจัดหาพลังงานทดแทนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยยังคงเป็นผู้นำในด้านพลังงานของภูมิภาคอาเซียนต่อไป"
นอกจากนี้ ทาง ASEAN Energy Awards ยังได้มอบรางวัลเกียรติยศในประเภทบุคคลพลังงานดีเด่น (Excellence in Energy Management by Individuals of 2015) ให้กับบุคคลที่มีบทบาทด้านพลังงานโดดเด่น ในภูมิภาคอาเซียน โดยบุคคลจากประเทศไทยที่ได้รับรางวัลดังกล่าว ได้แก่ นายคุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และ นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อดีตอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ