กรุงเทพฯ--7 ต.ค.--มูลนิธิสื่อสร้างสุข
ชุมชนหนองกองแก้ว ขอนแก่น หมู่บ้านย้อมไหม ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ผุด "หลุมซึม" กรองสารเคมีก่อนไหลสู่หนองน้ำสาธารณะ
ชุมชนหนองกองแก้ว ตำบลชนบท อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ชุมชนกึ่งเมืองในเขตเทศบาลชนบทที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทอผ้าไหม ต้องใช้สีเคมีในการย้อมสี และล้างไหม เดิมเมื่อเสร็จจากการย้อมไหม ชาวบ้านจะเทน้ำที่เหลือจากการย้อมไหมลงบนท่อระบาย ทำให้เกิดกลิ่นเหม็น หรือเทลงดินโดยตรง ก่อนจะไหลลงหนองน้ำสาธารณะ ซึ่งก็คือหนองกองแก้ว อันเป็นแหล่งทำมาหากินของชาวบ้าน ทั้งหาปลา และเก็บพืชผักตามน้ำ
นายจรูญ แก้วมาลา ชาวบ้านหนองกองแก้วเล่าว่า ปัญหาสารเคมีจากสีย้อมไหม เป็นปัญหาที่แก้ยาก แก้ไม่หมด ทั้งที่เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง เป็นต้น
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้นิ่งนอนใจ ด้านสุขภาพ มีการให้ความรู้ ถึงวิธีการป้องกันสารเคมี แนะนำให้สวมหน้ากาก ผ้าปิดปาก แว่นตา ใส่ถุงมือ ด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต้องทำให้คนในชุมชนเข้าใจ เห็นถึงความสำคัญ รวมพลังกายพลังใจมุ่งแก้ปัญหานี้ไปด้วยกัน นั่นคือโจทย์ใหญ่ ที่คนในชุมชน ยังคิดไม่ออก
ต้นปี 2556 คนในชุมชน รวมตัวกันจัดตั้งสภาชุมชน ตามโมเดล "สภาชุมชนเข้มแข็ง สร้างชุมชนน่าอยู่" ของสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เพื่อใช้เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาเรื่องนี้ ซึ่งคณะกรรมการ ประกอบไปด้วย อสม. ปราชญ์ชุมชน ตัวแทนชาวบ้าน รวม 35 คน มีการประชุมกันอย่างต่อเนื่องทุกเดือน เริ่มต้นด้วยการคุยถึงปัญหา และแนวทางแก้ปัญหา โดยเสนอทางออกหลายอย่าง เช่น ต้องหันมาเปลี่ยนวิถีย้อมไหมด้วยสีธรรมชาติ การทำหลุมซึมทุกครัวเรือนเพื่อบำบัดสารเคมีจากสีย้อมไหม การประชาคมให้คนในชุมชนใช้หลุมซึมอย่างจริงจัง กำหนดกติกาชุมชน คือขอให้เทน้ำจากกระบวนการย้อมและล้างไหมลงหลุมซึม แทนการเทลงพื้นดินหรือท่อระบายแล้วไหลซึมลงธรรมชาติอย่างเดิม
นายประชิต บุญศรี ประธานชุมชนหนองกองแก้ว เล่าว่า หลุมบ่อซึมเกิดจากการระดมความคิดเห็นของคณะกรรมการสภาชุมชน ที่ต้องการกรองสารเคมีก่อนจะไหลลงสู่ธรรมชาติ โดยบ่อมีขนาด 1x1 เมตร ลึก 1 เมตร ในหลุมประกอบด้วยทราย แกลบ ถ่านดำ รองเป็นชั้นๆ หลังจากมีบ่อหลุมซึมและกติกาชุมชน สามารถแก้ไขปัญหาสารเคมีได้ถึง 70 % ทุกหลังคาเรือนให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ และหน่วยงานภาครัฐได้รับรู้การทำงาน ลงมาให้การสนับสนุนมากขึ้น เช่น เทศบาลตำบลชนบท สำนักงานอุตสาหกรรมภาค 5 จังหวัดขอนแก่น
นอกจากการใช้หลุมซึม เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม อันเกิดจากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ตั้งแต่รับรู้ปัญหา วิเคราะห์ถึงทางออกและแนวทางแก้ไข ร่วมลงมือทำ และติดตามผลที่เกิดขึ้นแล้ว ชาวบ้านเกิดการกลุ่มกันเป็น "กลุ่มอนุรักษ์ลายผ้าไหมไทย" ปัญหาสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวที่ต่างคนต่างมองว่า แก้ยาก ไม่มีทางที่จะแก้ได้ วันนี้ "สภาชุมชน" ทำให้เขาได้ร่วมกันมองและหาทางออกไปพร้อมๆกัน จนนำมาสู่การแก้ไขด้วยพลังของพวกเขาเอง