กรุงเทพฯ--7 ต.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
วันนี้ (๗ ต.ค. ๕๘) เวลา ๐๘.๓๐ น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ศปก.พม.) ครั้งที่๒๕๖/๒๕๕๗-๒๕๕๘ เพื่อรับทราบปัญหาทางสังคมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และร่วมหาแนวทางการแก้ไขปัญหาและการป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานในกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุม
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ซึ่งดำเนินงานร่วมกันระหว่าง๓ กระทรวง คือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)กระทรวงมหาดไทย (มท.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยให้เงินอุดหนุนแก่เด็กแรกเกิดที่อยู่นอกระบบประกันสังคม ซึ่งเกิดระหว่างวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๘ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๙ บิดาและมารดา หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย และอยู่ในครัวเรือนยากจนและครัวเรือนที่เสี่ยงต่อความยากจน ซึ่งจะได้รับเงิน คนละ ๔๐๐ บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา ๑๒ เดือน โดยผู้ที่มีคุณสมบัติสามารถไปลงทะเบียนเพื่อแสดงความจำนงขอรับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ตั้งแต่วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๘ ถึง วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๙ นั้น ตนได้เน้นย้ำให้กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ประสานหน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ที่รับลงทะเบียน เร่งเผยแพร่ข้อมูลรายละเอียดของโครงการดังกล่าวไปยังประชาชนกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงสิทธิที่พึงจะได้รับจากรัฐต่อไป ทั้งนี้ ขอเชิญชวนให้ผู้ที่มีคุณสมบัติไปลงทะเบียนเพื่อแสดงความจำนงขอรับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โดยสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใกล้บ้าน หรือกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ทุกจังหวัดทั่วประเทศ
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากกรณีพบ ๒ พี่น้อง นักเรียนชั้น ม.๒ และ ป.๕ อาศัยในบ้านไม่มีเลขที่สภาพเก่าทรุดโทรมใกล้ผุพังกับย่าที่แก่ชรา ไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้ ครอบครัวมีฐานะยากจน ที่จังหวัดเชียงใหม่ ตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ (พมจ.เชียงใหม่) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือ ในเบื้องต้นตามภารกิจกระทรวงฯ พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงที่พักอาศัยให้เหมาะสมและถูกสุขลักษณะ และกรณีเด็กชายวัย ๓ ขวบ มีอาการผิดปกติหวาดกลัวเมล็ดข้าว หรือสิ่งของที่เป็นเมล็ดเล็กๆ ซึ่งครอบครัวพยายามหาทางรักษาอย่างต่อเนื่องมากกว่า ๑ ปี แต่ไม่สำเร็จ ทุกวันนี้รับประทานได้แต่นมและขนม ครอบครัวมีฐานะยากจน บางครั้งไม่มีเงินซื้ออาหารที่ถูกหลักโภชนาการให้รับประทาน ทำให้เด็กชายเป็นโรคขาดสารอาหาร ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดแม่ฮ่องสอน (พมจ.แม่ฮ่องสอน) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นตามภารกิจกระทรวงฯ พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่องต่อไป