กรุงเทพฯ--8 ต.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
นักวิจัยด้านพลังงาน JGSEE มจธ. จับมือ 5 ประเทศลุ่มน้ำโขงจัด MECON Project โครงการศึกษาข้อมูลเพื่อผลักดันสู่นโยบายด้านพลังงานที่สามารถรองรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น จากการขยายตัวของประชากรในกลุ่ม middle-income ในอีก 10 ปีข้างหน้า
บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี (มจธ.) ได้รับทุนวิจัยสนับสนุนจาก 3 หน่วยงานจากประเทศอังกฤษ ได้แก่ UK Research Council's Energy Program, Department for International Development และ Department for Energy and Climate Change เพื่อทำการศึกษาโอกาสและอุปสรรคของการอนุรักษ์พลังงานของครัวเรือนรายได้ต่ำในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง หรือ Greater Mekong Sub-region (GMS) 5 ประเทศได้แก่ ไทย เวียดนาม กัมพูชา พม่า และ ลาว เพื่อนำไปสู่การออกแบบนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในภาคครัวเรือน โครงการดังกล่าวมีชื่อว่า Effective Energy Efficiency Policy Implementation Targeting "New Modern Energy CONsumers" in the GMS หรือเรียกสั้นๆว่าโครงการ MECON
Dr. Milou Beerepoot เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency) และหนึ่งในกลุ่มคนที่ร่วมผลักดันเรื่องนี้ในเมืองไทยมาระยะหนึ่ง ได้กล่าวในฐานะผู้ริเริ่มและหัวหน้าโครงการ MECON ว่าในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ภูมิภาคอาเซียนจะมีกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลางมากขึ้นและมีความต้องการใช้พลังงานสูงขึ้นเช่นกัน ดังนั้น จึงต้องรีบให้ความรู้ความเข้าใจ และกระตุ้นให้เกิดความตระหนักในเรื่องการประหยัดพลังงานกับคนที่มีรายได้ต่ำก่อนที่คนกลุ่มนี้จะเข้าสู่กลุ่ม รายได้ปานกลางอย่างเต็มตัว รวมถึงต้องออกแบบนโยบายเพื่อให้ช่วยครัวเรือนเหล่านี้ก้าวข้ามอุปสรรคต่อการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน (Barriers to energy efficiency improvement) เช่น การขาดแคลนเงินทุนหรือไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ซึ่งจะช่วยให้ครัวเรือนเหล่านี้สามารถตัดสินใจลงทุนเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานได้ดียิ่งขึ้น ก่อนที่ครัวเรือนเหล่านี้จะเลือกใช้สินค้าที่มีประสิทธิภาพต่ำและติด "กับดัก" ของการใช้พลังงานและเสียค่าไฟมากเกินความจำเป็นในระยะยาว จุดเริ่มต้นของโครงการนี้จึงเป็นการป้องกันปัญหาของความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตมากกว่าเป็นการแก้ปัญหาหลังจากเกิดขึ้นแล้ว
ทางด้าน คุณปัญญ์ ปิยะศิลป์ ผู้จัดการโครงการกล่าวว่า เป้าหมายในการศึกษาอยู่ที่ครัวเรือนรายได้ต่ำที่เรียกว่า "New Modern Energy CONsumers (MECON)" หรือผู้บริโภคพลังงานกลุ่มใหม่ ซึ่งถูกนิยามว่าเป็นครัวเรือนที่เข้าถึงไฟฟ้าได้ และมีรายได้ประมาณ $2-5 ต่อวัน ถึงแม้ว่าครัวเรือนเหล่านี้บริโภคพลังงานน้อยกว่าครัวเรือนรายได้สูงในปัจจุบัน แต่ในอนาคตครัวเรือนเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะยกระดับรายได้ไปเป็นชนชั้นกลาง มีกำลังเงินในการซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้ามากขึ้น และมีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้นไปด้วย การใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพนอกจากจะสามารถลดค่าใช้จ่ายครัวเรือนและเปิดโอกาศให้ครัวเรือนเพิ่มคุณภาพชีวิตในด้านอื่นๆได้แล้ว ยังสามารถช่วยลดภาระการจัดหาพลังงานของภาครัฐ เพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศและลดมลพิษจากการใช้พลังงานที่ไม่สะอาดต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานจึงมักจะเป็นทางเลือกที่ราคาถูกและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่
"ในระยะเวลา 2 ปี ของโครงการ (2556-2558) เราสำรวจผู้บริโภค 1,660 ครัวเรือน ผู้ผลิตและผู้จำหน่าย 348 ราย ใน 5 ประเทศ เฉพาะในประเทศไทยเราสำรวจ 293 ครัวเรือนจากกรุงเทพฯ สุรินทร์ แม่ฮ่องสอน สระแก้ว และพัทลุง โดยเป็นการเข้าไปสอบถามพูดคุยเพื่อศึกษาพฤติกรรมการใช้พลังงาน และอุปสรรคต่อการประหยัดพลังงานของครัวเรือนเหล่านี้ นอกจากการสำรวจครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำในเมืองใหญ่เรายังสำรวจครัวเรือนเหล่านี้ที่กระจายอยู่จำนวนมากในชนบท พบข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น สินค้าที่มีฉลากเบอร์ห้ายังไม่เป็นที่แพร่หลายในครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กไม่ค่อยมีอุปกรณ์ติดฉลากประหยัดไฟวางจำหน่ายเนื่องจากไม่สามารถสต๊อกสินค้าจำนวนมากได้ ผู้ขายสินค้ามักไม่เข้าใจความหมายของข้อมูลบนฉลากเบอร์ห้าและไม่สามารถให้ความรู้ในการเลือกซื้ออุปกรณ์ประหยัดไฟแก่ผู้บริโภคได้ ตลอดจนอุปกรณ์ที่ติดฉลากประหยัดไฟมีราคาสูง ผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะซื้ออุปกรณ์ที่มีราคาถูกแต่ไม่มีฉลากประหยัดไฟ ทั้งๆที่อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูงจะสามารถประหยัดค่าไฟได้และให้ผลตอบแทนการลงทุนที่ดีกว่าในระยะยาว เราศึกษาข้อมูลเหล่านี้เพื่อออกแบบนโยบายและมาตรการส่งเสริมในเรื่ององค์ความรู้เรื่องการอนุรักษ์พลังงาน เพิ่มสัดส่วนของเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนที่มีประสิทธิภาพในตลาด สร้างพฤติกรรมการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพในผู้บริโภคและเพิ่มประสิทธิผลของฉลากประหยัดไฟเบอร์ห้าโดยเฉพาะต่อผู้บริโภคที่มีรายได้ต่ำ"
นอกจากนั้น นายจิระศักดิ์ มัณฑางกูร ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและแผนงานด้านการใช้ไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวในงานเสวนา "Improving Energy Efficiency amongst low-income households in the Greater Mekong Sub-region" เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2558 ที่ผ่านมาว่า โครงการนี้ทำให้รู้พฤติกรรมการใช้พลังงานของกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงมากขึ้น เช่น การใช้หลอด LED เป็นที่เริ่มเป็นที่นิยมกันมากในครัวเรือนรายได้ต่ำในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงแต่ปรากฏว่ายังไม่เป็นที่นิยมในครัวเรือนเหล่านี้ในประเทศไทย ซึ่งหากประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนหลอดไฟทุกประเภทซึ่งมีปริมาณกว่า 200 ล้านหลอด มาเป็นหลอด LED อาจต้องลงทุนสูงถึงแสนล้านบาท ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ก่อนคือค่อยๆ ปรับพฤติกรรมการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าบางอย่าง รวมถึงการสนับสนุนเงินเพื่อเป็นแรงจูงใจในการเลือกใช้ให้กับครัวเรือน
"ไม่ใช่แค่หลอด LED แต่เรายังมีแนวคิดเรื่องการใช้ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ร่วมกันในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงเพื่อเป็นการนำร่องการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน ซึ่งขณะนี้มีเพียงเวียดนามเท่านั้นที่มีฉลากประหยัดไฟใช้ขึ้นเมื่อปี 2013 แต่พม่า ลาว กัมพูชา ยังไม่มี ในฐานะที่ไทยทำเรื่องนี้มากว่า 20 ปีจึงอยากเสนอให้ประเทศเหล่านั้นใช้มาตรฐานฉลากประหยัดไฟเดียวกันกับไทย เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ก็นำเข้าจากไทยอยู่แล้ว และผมในฐานะตัวแทนภาครัฐก็จะให้การสนับสนุนและผลักดันต่อไป"
การเสวนาเพื่อนำเสนอผลการศึกษาของโครงการ MECON จะเปิดโอกาศให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานต่อไปในอนาคต คุณปัญญ์ ปิยะศิลป์ ได้กล่าวต่อว่า
"ความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของภูมิภาคในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น สินค้าที่มีฉลากเบอร์ห้าของไทยเป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่ผู้บริโภคในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ดี ในบางประเทศ เช่น ลาวและกัมพูชา ก็มีปัญหาฉลากเบอร์ห้าปลอมระบาดซึ่งเป็นช่องโหว่ที่ไม่ได้รับการดูแลจากทั้งหน่วยงานจากไทยและประเทศเหล่านั้น นอกจากนี้ การที่แต่ละประเทศจะพัฒนาฉลากประหยัดพลังงานหรือบังคับใช้มาตรฐานการใช้ไฟฟ้าของตัวเองก็เป็นทางเลือกที่มีต้นทุนสูงทั้งด้านงบประมาณ กำลังคนและเวลา อีกทั้ง การรวมมาตรฐานการใช้พลังงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าของแต่ละประเทศเป็นหนึ่งเดียว (Energy standard harmonization) ในภายหลังจะสามารถทำได้ยากเนื่องจากความแตกต่างและหลากหลายของมาตรฐานในแต่ละประเทศ ดังนั้น ความร่วมมือระหว่างประเทศจึงเป็นกลยุทธ์ที่สามารถการแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ดีกว่าซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อทุกประเทศพร้อมๆ กัน"
ทางด้านคุณ Beni Suryadi ตัวแทนจาก ASEAN Centre of Energy (ACE) ได้กล่าวว่าการทำฉลากประหยัดพลังงานในระดับอาเซียนเป็นเรื่องที่มีการผลักดันกันมานานแต่ก็ยังยากที่จะสำเร็จ ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีต่อการผลักดันในเรื่องนี้และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยควรทำหน้าที่เป็นหัวหอกในการริเริ่มนี้ในฐานะที่มีประสบการณ์การพัฒนาฉลากประสิทธิภาพพลังงานมาเป็นเวลานาน ทาง ACE มีความสนใจอย่างยิ่งที่จะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมในจุดที่จำเป็นต่อไป