กรุงเทพฯ--8 ต.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign-Currency IDR) ของธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด มหาชน (SCBT) ที่ 'A-' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และคงอันดับเครดิตอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาว (Long-Term Local-Currency IDR) ที่ 'A+' แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ
ในขณะเดียวกันฟิทช์ได้ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของ SCBT ที่ 'AAA(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดแสดงอยู่ด้านท้าย
การประกาศอันดับเครดิตนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของ Standard Chartered Bank (SC; 'AA-'/แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ) ซึ่งเป็นธนาคารแม่ของ SCBT เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในรายงาน Fitch Affirms Standard Chartered at 'AA-', Maintains Negative Outlook ที่ www.fitchratings.com)
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต–อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตภายในประเทศและอันดับเครดิตสนับสนุน
อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตภายในประเทศและอันดับเครดิตสนับสนุน (Support Rating) ของ SCBTพิจารณาจากปัจจัยสนับสนุนจากธนาคารแม่ เนื่องจากฟิทช์เชื่อว่า SCBT เป็นธนาคารลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อธนาคารแม่ ซึ่งแสดงให้เห็นได้จากการที่ SC ถือหุ้นใน SCBT เกือบทั้งหมด (99.87%), ความเชื่อมโยงในการดำเนินงานกับธนาคารแม่ที่อยู่ในระดับสูงและการให้ความช่วยเหลือในด้านการเงินแก่ SCBT มาอย่างต่อเนื่องในอดีต นอกจากนี้ SCBT ถือเป็นธนาคารลูกที่มีความสำคัญในระยะยาว โดยมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนธุรกิจธนาคารระหว่างประเทศและการขยายเครือข่ายทางธุรกิจของกลุ่มธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไปยังกลุ่มประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง
แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบสำหรับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของ SCBT สอดคล้องกับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบของ SC
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) ของ SCBT สะท้อนถึงความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่ถือว่าอยู่ในระดับสูงของธนาคาร ในด้านฐานะเงินกองทุนและอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งน่าจะเพียงพอในการรองรับความเสี่ยงจากการปรับตัวด้อยลงของคุณภาพสินทรัพย์ SCBT มีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ประมาณ 22.0% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 (ตามประมาณการของฟิทช์) ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์อื่นในประเทศ แม้ว่า SCBT จะมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ค่อนข้างอ่อนแอโดยธนาคารมีอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 7.2% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 และยังอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่อย่างไรก็ตามธนาคารยังมีอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ที่ 123.9% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนความสามารถในการรองรับความเสี่ยงโดยรวมของธนาคาร
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินยังสะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ต่อความสามารถในการทำกำไรของธนาคารที่น่าจะยังคงอ่อนแอในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า เนื่องจากธนาคารยังคงมีความเสี่ยงในด้านการตั้งสำรองและยังได้รับแรงกดดันในด้านรายได้ดอกเบี้ยรับจากการชะลอตัวของสินเชื่อ ทั้งนี้อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์ปรับตัวลงมาที่ 0.51% ต่อปี ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 จากค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ 0.99%
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต –อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตภายในประเทศของโครงการหุ้นกู้ระยะสั้นไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันอยู่ในระดับเดียวกันกับอันอับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของธนาคารเนื่องจากหุ้นกู้ภายใต้โครงการเป็นภาระผูกพันที่ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของธนาคาร
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตภายในประเทศและ อันดับเครดิตสนับสนุน
การเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตสากลของ SC อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของ SCBT แต่อาจไม่ส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวซึ่งปัจจุบันถูกจำกัดโดยเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทย
อันดับเครดิตภายในประเทศของ SCBT เป็นอันดับเครดิตที่อยู่ในระดับสูงสุด จึงไม่มีปัจจัยใดที่อาจทำให้อันดับเครดิตได้รับการปรับเพิ่มอันดับ การปรับลดอันดับเครดิตไม่น่าที่จะเกิดขึ้นในระยะสั้นเนื่องจากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศยังอยู่สูงกว่าอันดับเครดิตของประเทศไทยที่ A- อยู่ 2 อันดับ
การปรับตัวลดลงของแนวโน้มที่ SC จะให้การสนับสนุนแก่ SCBT (ซึ่งอาจแสดงได้จากการลดลงของสัดส่วนการถือหุ้นใน SCBT อย่างมีนัยสำคัญ) อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิต แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น การเปลี่ยนแปลงของเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทยอาจส่งผลกระทบในทิศทางเดียวกันต่ออันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ SCBT
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
ฟิทช์มองว่าโอกาสในการปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินมีค่อนข้างจำกัดในระยะปานกลาง เว้นแต่ธนาคารจะมีเครือข่ายธุรกิจในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในทางกลับกันการปรับตัวอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญของคุณภาพสินทรัพย์ซึ่งส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรและระดับเงินกองทุนลดลงอย่างมากอาจส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต –อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตภายในประเทศของโครงการหุ้นกู้ระยะสั้นไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันเป็นอันดับเครดิตที่อยู่ในระดับสูงสุดของประเทศไทย จึงไม่มีปัจจัยใดที่อาจทำให้อันดับเครดิตได้รับการปรับเพิ่มอันดับ ในทางกลับกันอันดับเครดิตของหุ้นกู้ระยะสั้นอาจถูกปรับลดอันดับหากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะสั้นของ SCBT ถูกปรับลดอันดับ อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น
รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดของ SCBT มีดังนี้
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวคงอันดับที่ 'A-' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ 'F2'
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ 'A+' แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ 'F1'
- อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินคงอันดับที่ 'bbb'
- อันดับเครดิตสนับสนุนคงอันดับที่ '1'
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ 'AAA(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ 'F1+(tha)'
-อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของโครงการหุ้นกู้ระยะสั้นไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันคงอันดับที่ 'F1+(tha)'