กรุงเทพฯ--8 ต.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมชลประทานโลกครั้งที่ 2 เชิญนักวิชาการทั่วโลกกว่า 1,000 คน ร่วมหารือในประเด็นการบริหารจัดการน้ำในสภาวะที่โลกมีการเปลี่ยนแปลง พร้อมเตรียมนำเสนอพระอัจฉริยภาพด้านการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯให้ทั่วโลกได้รับรู้
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดการประชุมชลประทานโลก ครั้งที่ 2 ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมเตรียมการจัดประชุมชลประทานโลกครั้งที่ 2 และการประชุมมนตรีฝ่ายบริหารระหว่างประเทศครั้งที่ 67 ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม โดยจะจัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 6 – 12 พฤศจิกายน 2559
สำหรับการประชุมชลประทานโลกกำหนดจัดการประชุมทุกๆ 3 ปี โดยครั้งแรกจัดขึ้นที่ประเทศตุรกี เมื่อปี 2556 และครั้งที่ 2 ในปี 2559 ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการชลประทานและการระบายน้ำ หรือ ICID ที่ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิก 110 ประเทศ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งที่ 2 ที่จะเป็นเวทีสำคัญให้ประชาคมชลประทานทั่วโลกพบปะหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นหาแนวทางร่วมกันในพัฒนางานด้านการชลประทานและการระบายน้ำ และจะหารือร่วมกันในหัวข้อ การบริหารจัดการน้ำภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลก : บทบาทการชลประทานต่อความยั่งยืนด้านอาหาร
โดยมีเป้าหมายสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1. การแสวงหาแนวทางการบริหารจัดการเพื่อสร้างความสมดุลระหว่าง น้ำ อาหาร พลังงานและระบบนิเวศ 2. ร่วมกำหนดวิธีการรับมือที่เหมาะสมกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่มีผลต่อปริมาณน้ำทั้งอุทกภัยและภัยแล้ง อย่างเช่น สถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังคุกคามประเทศไทยในขณะนี้ เราจะมีวิธีการในการรับมืออย่างไรให้ผ่านวิกฤติน้ำแล้ง จะลดปริมาณการใช้น้ำของทุกภาคส่วน หรือจะจัดหาแหล่งเก็บกักน้ำใหม่ๆ เพื่อเก็บกักน้ำท่าก่อนไหลลงสู่ทะเล เป็นต้น 3. การใช้ระบบชลประทานและการระบายน้ำเพื่อลดความยากจนและความหิวโหย โดยร่วมวางแนวทางพัฒนาแหล่งน้ำซึ่งถือเป็นปัจจัยพื้นฐานให้เพียงพอที่จะสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยใช้ทำการเกษตร
?ส่วนประเด็นเนื้อหาทางวิชาการที่จะจัดแสดงและระดมความคิดเห็นในการประชุมชลประทานโลกครั้งนี้จะพิจารณาตามกรอบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ประกอบด้วยเนื้อหาทางด้านวิชาการเกี่ยวกับพระอัจฉริยภาพด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยอันในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา อาทิ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริห้วยฮ่องไคร้ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแม่งัดสมบูรณ์ชล โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแหลมผักเบี้ย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องการบริหารจัดการเพื่อใช้ประโยชน์แหล่งน้ำร่วมกันในภูมิภาคอาเซียน และการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากการประชุมครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้นักวิชาการไทยได้พัฒนาขีดความสามารถในการบริหารจัดการด้านชลประทานและการระบายน้ำในเวทีนานาชาติแล้ว ยังเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านชลประทานกับผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทั่วโลก ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1 พันคน