กรุงเทพฯ--8 ต.ค.--สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร
เด็กนักเรียนชั้นป.1 ต่างส่งเสียงเจื้อยแจ้ว แย่งกันตอบ แย่งกันยกมือเพื่อออกมาสะกดคำ ประสมคำหน้าห้องเรียน ฝ่ายครูผู้สอนก็สาละวนกับการหยิบสื่อต่าง ๆ ที่มีอยู่รายรอบห้องมาเสริมทักษะ กระตุ้นสมองและพัฒนาการของเด็ก ๆ เช่น ป้ายคำ ช้อน ส้อม การร้องเพลงพร้อมอุปกรณ์ประกอบ เช่น แก้วน้ำ ถ้วย การได้ออกลีลาท่าทางประกอบ ช่วยสร้างความสนุกสนานให้เด็ก ๆ จนลืมไปว่านี่คือชั่วโมงการเรียน
บรรยากาศเช่นนี้ดูจะไม่ชินตานักสำหรับระบบการศึกษาในบ้านเรา ซึ่งปกติเด็ก ๆ มักจะคร่ำเคร่งอยู่กับตำรับตำราและการเคี่ยวเข็ญของครู
คือรูปแบบการเรียนการสอนแบบ BBL Brain – based Learning การจัดการเรียนการสอนตามแนวทางการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง ที่บูรณาการแนวคิดพื้นฐานด้านทฤษฎีพัฒนาการการเรียนรู้ และพัฒนาการของสมองเข้าด้วยกัน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ มุ่งที่จะพัฒนาศักยภาพเด็กให้เป็นไปตามธรรมชาติการเรียนรู้ของสมอง และการเรียนรู้ตามวัยของเด็ก ซึ่งโรงเรียนชุมชน 1 วัดสะกัดน้ำมัน ณ ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 1 ให้เป็น 1 ใน 8 ของโรงเรียนต้นแบบ BBL จากจำนวนโรงเรียนทั้งหมด 124 แห่ง โดยการพิจารณาจากความพร้อมและการพัฒนาหลาย ๆ ด้าน
"โรงเรียนชุมชน 1 วัดสกัดน้ำมัน เริ่มนำการจัดการเรียนการสอนแบบ BBL มาใช้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 โดยเริ่มจากนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ก่อน ประกอบด้วยกุญแจไขสู่ความสำเร็จจำนวน 5 ดอกด้วยกัน" ครูรังสฤษฏ์ อ้วนวิจิตร ผู้อำนวยการโรงเรียนโรงเรียนชุมชน 1 วัดสกัดน้ำมัน เล่าถึงจุดเริ่มต้น
กุญแจ 5 ดอก ประกอบด้วย
กุญแจดอกที่ 1 จะต้องมีสนามเด็กเล่นและมีอุปกรณ์ให้เด็กเล่นอย่างเพียงพอ เพื่อสนองความต้องการของเด็ก เป็นการพัฒนาร่างกายให้แข็งแรง พร้อมสำหรับการเรียน
กุญแจดอกที่ 2 ห้องเรียนจะต้องมีสีสัน ทั้ง โต๊ะ เก้าอี้ และอุปกรณ์การเรียน เพื่อให้สอดคล้องและเหมาะกับเด็กแต่ละคน กระตุ้นสมองให้เกิดการเรียนรู้
กุญแจดอกที่ 3 กระบวนการเรียนการสอนแบบใหม่ เช่น มีการเล่นเกม การร้องเพลง
กุญแจดอกที่ 4 แบบเรียนที่มีคุณภาพ
กุญแจดอกที่ 5 ใบงานและสื่อนวัตกรรม
"ถ้าใช้กุญแจ 5 ดอกอย่างพอเหมาะ ก็จะทำให้มีการพัฒนาคุณภาพของนักเรียนได้ และในปีนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมีนโยบายให้นักเรียนชั้น ป.1 อ่านออกเขียนได้ภายใน 1 ปี เมื่อเราทดลองใช้ BBL ปรากฏว่านักเรียนชั้นป.1 สามารถอ่านหนังสือได้ในระยะเวลาเพียง 2 – 3 เดือน ซึ่งนั่นชี้ให้เห็นว่าการดำเนินการได้ผลและประสบความสำเร็จ"
ครูรัตนา ปาลกวงศ์ ณ อยุธยา ครูชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 คือฟันเฟืองสำคัญของความสำเร็จนี้
"เริ่มสอนตามแบบ BBL ใน 3 วิชา คือ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ โดยสอนให้เด็กรู้จักสระ พยัญชนะ แล้วหัดผสมคำ เด็กมีความกระตือรือร้นในการใช้สื่อมาก ในเทอม 2 จะใช้รูปแบบนี้ครบทุกวิชา"
ครูรัตนาสร้างสื่อการเรียนการสอนโดยดูจากอินเทอร์เน็ต บ้างก็จากเพื่อน ๆ ครูด้วยกันที่ส่งมาให้ แล้วมาศึกษาเพิ่มเติมว่า สื่อแบบไหนจะเหมาะกับเด็ก อย่างเช่น พบว่าสื่อที่เขียนขึ้นมาเองจะช่วยสร้างพัฒนาการ ช่วยให้เด็กจดจำได้ดีกว่าสื่อที่จ้างทำ เพราะเราสามารถสอนให้เด็กเขียนตามได้ โดยเริ่มจากการวาดกลางอากาศก่อน ที่สำคัญต้องมีการพัฒนาสื่ออยู่ตลอดเวลา
"ถ้าเมื่อไรเด็กเริ่มเบื่อ ไม่สนใจการเรียน ก็จะให้เด็กเคาะแก้ว ปรบมือ ร้องเพลง เด็กจะสนุกสนานมาก"
"ภูมิใจมาก สอนได้ 3 เดือนกว่า เด็กชั้นป.1 อ่านได้ทุกคน มี 5 – 6 คนที่อ่านคล่อง เด็กสนุกกับการอ่านมาก ถ้าให้อ่านหนังสือจะชอบ ตอนไหนว่าง เช่น พักกลางวันเด็กจะไม่ไปเล่น แต่จะอ่านหนังสือแทน อย่างน้อย ๆ ก็หนังสือนิทาน"
ที่สำคัญรูปแบบการสอนแบบ BBL นี้ยังทำให้เด็กกล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก รักการมาโรงเรียน มีความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนและครู นำไปสู่การปลูกฝังในด้านต่าง ๆ ได้โดยง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม เช่น ความกตัญญู ความซื่อสัตย์ เป็นต้น
นอกจากกระบวนการเรียนการสอนแล้ว โรงเรียนชุมชน 1 วัดสะกัดน้ำมันยังมีห้องสมุดที่จัดไว้อย่างเป็นสัดส่วน โปร่ง โล่ง สบาย มีบริเวณโดยรอบโรงเรียนที่สะอาด การประดับตกแต่งอย่างมีสีสัน สวยงาม อันช่วยเสริมบรรยากาศการเรียนได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีบ่อเลี้ยงปลา แปลงผัก ที่เป็นอีกหนึ่งแขนงของการเรียนรู้และการใช้ชีวิตในแบบพอเพียง
วันนี้นักเรียนโรงเรียนชุมชน 1 วัดสะกัดน้ำมันจึงมีความสุข สนุกกับการเล่น การเรียน อันเป็นสะพานนำไปสู่ประสิทธิภาพด้านการศึกษาและคุณภาพในการดำเนินชีวิต ที่สำคัญนับเป็นสัญญาณแห่งความสำเร็จของระบบการศึกษาแบบ BBL Brain – based Learning