กรุงเทพฯ--8 ต.ค.--สภาธุรกิจตลาดทุนไทย
สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และ ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนใน 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 5 เดือน โดยมีปัจจัยเชิงบวกจากนโยบายเศรษฐกิจที่มีความชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับเพิ่มขึ้นจนอยู่ในกรอบทรงตัว (Neutral)
นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO NIDA Investor Sentiment Index) ซึ่งทำการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มผู้ลงทุน 4 กลุ่มในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีต่อระดับดัชนีฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้าว่า "ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก" อันเนื่องมาจากความชัดเจนของนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล ส่งผลให้ดัชนีปรับเพิ่มขึ้นจนอยู่ในกรอบทรงตัว (Neutral)
นักลงทุนคาดการณ์ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ธันวาคม) อยู่ที่ 101.48 (ช่วงค่าดัชนี 0 - 200)ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 70.35% (ปรับเพิ่มสูงสุดในรอบ 5 เดือน) จากดัชนีเดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 59.57 โดยดัชนี
ทุกกลุ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 88.87% อยู่ที่ 99.99 (ปรับเพิ่มสูงสุดในรอบ 7 เดือน) จนอยู่ในกรอบทรงตัว (Neutral) ในขณะที่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนสถาบันต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยที่สุด อยู่ที่ 66.67 (Bearish) หรือ 66.68%
หมวดอุตสาหกรรม ที่น่าสนใจ มากที่สุด คือ บริการรับเหมาก่อสร้าง (CONS)
หมวดอุตสาหกรรม ที่ไม่น่าสนใจ มากที่สุด คือ เหล็ก (STEEL)
ปัจจัยเชิงบวก ที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นมากที่สุด คือ นโยบายด้านเศรษฐกิจ
ปัจจัยเชิงลบ ที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นมากที่สุด คือ สถานการณ์ต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้น อาทิ การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่มีการชะลอตัวต่ำกว่าประมาณการ ความผันผวนของเศรษฐกิจจีน การปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยภายในประเทศบางประการที่ส่งผลต่อทิศทางตลาดหุ้น เช่น การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แรงซื้อจากนักลงทุนในประเทศจากกองทุน LTF และ RMF สถานการณ์ทางการเมือง และเหตุการณ์ความไม่สงบ เป็นต้น
คุณธิติ ตันติกุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) มองว่าเศรษฐกิจไทยใกล้จะผ่านจุดต่ำสุดแล้ว แต่ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงอยู่ในหลายประเด็น โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ การอ่อนค่าอย่างรวดเร็วของค่าเงินในประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมถึงภาพความเสี่ยงของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น และการพึ่งพาการส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ทำให้ภาพการฟื้นตัวของไทยเป็นไปในลักษณะแบบ U-shape หรือเศรษฐกิจจะยังคงขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพจริงไประยะหนึ่ง
สำหรับการขยายตัวเศรษฐกิจของไทยในปี 2558 มองว่าจะมีการขยายตัวได้เพียง 2.8% สาเหตุหลักมาจากการส่งออกที่หดตัวเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันตามอุปสงค์ของตลาดโลกที่ยังอ่อนแอ โดยสาเหตุมาจากคู่ค้าหลักอย่างจีน รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังซบเซา ด้านปัจจัยที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจยังเป็นการใช้จ่ายของภาครัฐและภาคการท่องเที่ยว สำหรับความเสี่ยงหลักคือความผันผวนในตลาดการเงินจากการเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกของสหรัฐฯในปี 2558 ซึ่งมองว่าจะมีผลทำให้เกิดการโยกย้ายสินทรัพย์ออกจากตลาดเกิดใหม่รวมถึงตลาดไทย และยังส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาครวมถึงเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ในขณะเดียวกันสภาพคล่องในระบบอาจตึงตัวมากขึ้น
อย่างไรก็ดี แม้สหรัฐฯ จะเริ่มเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงิน แต่ประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ ทั้งจีน ญี่ปุ่น และยูโรโซน ยังมีความจำเป็นต้องคงมาตราการผ่อนคลายทางการเงินต่อไป เพื่อช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง