กรุงเทพฯ--9 ต.ค.--Velvet Moon Creative
จากการดำเนินงานของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ใน "โครงการเครือข่ายสายสืบผักผลไม้ปลอดภัย '' (สายสืบผักสด) โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งร่วมกันทำงานลักษณะเชิงรุก โดยมีการตรวจสอบการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักผลไม้ ทั้งนี้การดำเนินงานที่ผ่านมา1ปีเต็ม ทำให้โครงการมีพันธมิตรทั้งผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และที่สำคัญคือกลุ่มเกษตรกรซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของโครงการสายสืบผักสด ปัจจุบันเกษตรกรให้ความสนใจและสมัครเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อเรียนรู้แนวทางการเพาะปลูกผักผลไม้ที่ปลอดภัย
โดย เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2558 "สายสืบผักสด" นำโดย พันตำรวจเอกวัฒนา แก้วดวงเทียน รองผู้กำกับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (รอง ผบก.ปคบ.) ประธานในพิธีเปิดงานและกล่าวต้อนรับผู้แทนจากภาคีเครือข่าย และผู้แทนเกษตรกร พร้อมแจ้งวัตถุประสงค์กิจกรรมเครือข่าย "สายสืบผักสด" ลงพื้นที่ศึกษาและเรียนรู้การเพาะปลูกผักผลไม้ให้ปลอดภัย เกษตรกรได้เรียนรู้ ศึกษา แลกเปลี่ยนวิธีการแก้ปัญหาในการเพาะปลูก การสร้างมูลค่าให้แก่ผลผลิตโดยไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
"ตามที่โครงการ สายสืบผักสด ได้ดำเนินงาน โดยที่ผ่านมา ได้จัดเสวนาทางวิชาการเพื่อให้ความรู้ แก่เกษตรกร นักวิชาการ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สำหรับวันนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่สามารถให้ผู้แทนเกษตรกรได้ลงพื้นที่จริง และเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรนำความรู้ไปใช้ ซึ่งจะส่งผลไปยังผู้บริโภค ที่จะได้บริโภคผัดผลไม้สดที่ปลอดภัย ซึ่งสิ่งดีๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายที่ตระหนักและให้ความสำคัญในการลดใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักผลไม้ โดยเฉพาะ ต้องขอบคุณสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ที่เห็นความสำคัญ และให้การสนันสนุนงบประมาณจัดกิจกรรมในครั้งนี้" พ.ต.อ.วัฒนา แก้วดวงเทียน กล่าว
กิจกรรมประกอบด้วย ในช่วงเช้า "สายสืบผักสด" ลงพื้นที่พร้อมกลุ่มเกษตรกรดูงาน ศึกษา เรียนรู้ การเพราะปลูกโดยไม่ใช้สารเคมีฯ และวิธีการตรวจสอบสารเคมีฯ ในผักสดของ 108 เทคโนฟาร์ม จังหวัดอ่างทอง โดยคุณสมเจตน์ เจริญศรีสัมพันธ์ เกษตรกรผู้บริหารฟาร์มโดยใช้นโยบายตามแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ได้เล่าถึงวิธีการเพาะปลูกผักสดโดยไม่ใช้สารเคมีฯ แต่เป็นการหาวิธีแก้ปัญหาและป้องกันด้วยวัสดุจากธรรมชาติในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ด้วยมาตรฐาน ThaiGap และประเด็นที่น่าสนใจคือการสร้างฐานเครือข่ายเกษตรกรในชุมชุม โดยคุณสมเจตน์ฯ ได้ผลักดันและรวบรวมสมาชิกเกษตกรภายในจังหวัดอ่างทอง จัดตั้งเป็นสำนักงานเกษตรกรและสหกรณ์ จังหวัดอ่างทอง โดยมีศูนย์กลางเพื่อรวบรวมผลผลิตให้ได้ปริมาณที่ต้องการตามยอดสั่งซื้อของลูกค้าและสามารถตรวจสอบคุณภาพความปลอดภัยได้ จากนั้น พ.ต.อ.วัฒนา แก้วดวงเทียน (รองผบก.ปคบ.) นำทีมเกษตรกรลงสำรวจพื้นที่ศึกษา เรียนรู้การปลูกผักภายในฟาร์มและเก็บตัวอย่างผักสดเพื่อนำไปตรวจสอบหาสารเคมีฯ ปนเปื้อนตามกิจกรรม "สายสืบผักสด"
จากนั้น ได้พากลุ่มเกษตรกรไปเยี่ยมชมเกษตรกรที่ได้รับการสนับสนุนโรงเรือนเพื่อการเพาะปลูก เมล่อน และ ผักสดปลอดสารพิษ จากสำนักงานเกษตรกรและสหกรณ์ จังหวัดอ่างทอง โดยเกษตรกร แพทย์หญิงศิริ ดิลกวัฒนะโยธิน ซึ่งสนใจปลูกผักผลไม้อินทรีย์และแนวทางการเพาะปลูกเป็นที่สนใจของกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมกิจกรรมเครือข่าย "สายสืบผักสด" เป็นอย่างมาก
ช่วงบ่ายเครือข่าย "สายสืบผักสด" ลงพื้นที่ไปถึงจังหวัดสระบุรี เพื่อนำผู้แทนจากภาคีเครือข่ายและเกษตรกรเรียนรู้ ศึกษา ดูงาน ที่ ฟาร์มเกษตร สมเกียรติ ผักอร่อย ซึ่งดำเนินงานโดยเกษตรกร คุณสมเกียรติ ลำพันแดง และคุณสุนันท์ สตะจิตร (ภรรยา) ด้วยตัวพื้นที่ฟาร์มที่พึ่งเริ่มเพาะปลูกเพียง 3 เดือน และเป็นการเพาะปลูกผักแบบแนวคิดที่ทันสมัย อย่างเช่นการเพาะต้นอ่อนของผักบุ้ง โดยไม่ต้องรอให้โตเต็มที่ แต่เก็บเกี่ยวมาจำหน่ายเพื่อประกอบอาหารในลักษณะต้นอ่อน ทำให้เป็นที่นิยมอย่างยิ่งในขณะนี้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่นิยมทานผักสด
จากนั้น คุณสมเกียรติฯ ได้เรียนเชิญ "สายสืบผักสด" นำทีมโดย พ.ต.อ.วัฒนาฯ และกลุ่มเกษตรกร เยี่ยมชมศึกษาและตรวจสอบความปลอดภัยในการดำเนินกิจการค้าส่งผักสด " สมเกียรติ ผักอร่อย" ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากฟาร์มเพาะปลูก ทั้งนี้ คุณสมเกียรติและครอบครัว ได้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตรมาประมาณ 6 ปี ในฐานะ "ผู้รวมรวมผัก" ซึ่งพืชผักเกษตรที่ได้ GAP ทั่วทั้งจังหวัดสระบุรีและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งผักจากฟาร์ม "สมเกียรติ ผักอร่อย" เป็นผักตามมาตรฐาน GAP ทั้งสิ้น ซึ่งลูกค้าหลักคือ ห้าง แมคโคร (Makro) ซึ่งมียอดสั่งซื้อ 5-6 พันตัน/วัน จากกิจกรรมการเยี่ยมชมการดำเนินงาน ทำให้กลุ่มเกษตรกรเกิดความสนใจในกระบวนการจำหน่ายผักผลไม้ปลอดภัย เพราะได้เรียนรู้วิธีการตรวจสอบสารเคมีฯ วิธีการคัดแยกผักผลไม้ด้วยเทคโนโลยีที่ศึกษาและนำมาปรับใช้ภายในฟาร์ม และการเข้าเยี่ยมชมการเตรียมผัดสด การบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานจนถึงกระบวนการจัดส่ง
ทั้งนี้ ตลอดทั้งวันของกิจกรรมเครือข่าย "สายสืบผักสด" ลงพื้นที่ศึกษาและเรียนรู้แปลงผักผลไม้ที่ปลอดภัยทำให้ผู้แทนจากภาคีเครือข่ายและผู้แทนเกษตรกรได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของโครงการเครือข่ายสายสืบผักผลไม้ปลอดภัย หรือ "สายสืบผักสด" เป็นอย่างมาก เพราะทำให้ได้เรียนรู้ ศึกษา แลกเปลี่ยนข้อมูลจากประสบการณ์จริง โดย นายโชคชัย หาระภูมิ ผู้แทนเกษตรกร จังหวัดนนทบุรี ได้กล่าวถึงความรู้สึกประทับใจในการเข้าร่วมกิจกรรมกับสายสืบผักสด เป็นอย่างมากเพราะทำให้ได้ความรู้ และข้อคิดในการผลิตผักผลไม้ที่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งสามารถทำได้จริงและสามารถลดการใช้สารเคมีฯ และเกษตรกรไม่ต้องเสี่ยงอันตรายจากการฉีดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชด้วย" คุณโชคชัยฯ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำให้ผู้บริโภคควรทำความสะอาดผักผลไม้สดก่อนรับประทาน โดยใช้เกลือ หรือน้ำส้มสายชูผสมน้ำ แช่ทิ้งไว้ 10 ถึง 15 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด หรือให้น้ำไหลผ่านนาน 2 นาที เพื่อลดปริมาณสารเคมีฯ ตกค้างให้น้อยลง และการเลือกซื้อผักผลไม้สดจากแหล่งจำหน่ายที่ได้มาตรฐาน เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการหลีกเลี่ยงจากผักผลไม้สดที่ไม่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคอีกด้วย ทั้งนี้สามารถแจ้งแหล่งผลิตผักสดที่ไม่ปลอดภัย ตลอดจนแหล่งผลิตและจำหน่ายสารเคมีฯ ที่ผิดกฎหมาย ได้ทางสายด่วน 1135 หรือ 02-939 3435 หรือ www.cppd.go.th