กรุงเทพฯ--9 ต.ค.--คาร์ลบายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์
บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย นำโดย มร. มาร์คุส เกลเซอร์ ผู้อำนวยการ บีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด ประเทศไทย ส่งมอบรถมอเตอร์ไซค์บีเอ็มดับเบิลยู K 1200 S ให้แก่โรงเรียนจิตรลดา (สายวิชาชีพ) และวิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก มหานคร โดยมุ่งใช้เพื่อการฝึกอบรมช่างเทคนิครุ่นใหม่ ผ่านการมอบทักษะและความรู้ที่จำเป็นให้แก่เยาวชนของทั้งสองสถาบัน
มร. มาร์คุส เกลเซอร์ ผู้อำนวยการ บีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด ประเทศไทย กล่าวว่า "บีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด ประเทศไทย ภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนโรงเรียนจิตรลดา (สายวิชาชีพ) และวิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก มหานคร ในการพัฒนาทักษะด้านวิชาชีพให้แก่นักเรียนอาชีวศึกษาเหล่านี้ รถมอเตอร์ไซค์บีเอ็มดับเบิลยู K 1200 S และเทคโนโลยีเฉพาะตัวของมันไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีให้แก่นักเรียนเท่านั้น แต่ยังสร้างโอกาสให้พวกเขาได้ฝึกการถอดและประกอบชิ้นส่วนรถมอเตอร์ไซค์ และเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงความสำคัญของชิ้นส่วนแต่ละชิ้นที่เมื่อนำมาประกอบกันแล้วจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการขับขี่ นี่คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้นักเรียนได้เข้าใจหลักการในด้านการออกแบบและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นส่วนประกอบพื้นฐานในการผลิตรถมอเตอร์ไซค์ของบีเอ็มดับเบิลยู"
รถมอเตอร์ไซค์บีเอ็มดับเบิลยู K 1200 S มาพร้อมเครื่องยนต์แถวเรียง 4 สูบ 4 จังหวะ ขนาด 1,157 ซีซี อัตราส่วนกำลังอัด13.0:1 ให้กำลังสูงสุด 124.5 กิโลวัตต์ (167 แรงม้า) ที่ 10,250 รอบต่อนาที และแรงบิดสูงถึง 129 นิวตัน-เมตร ที่ 8,250 รอบต่อนาที ด้วยกระบอกสูบ 4 วาล์วต่อกระบอก เช่นเดียวกับที่ใช้ในฟอร์มูล่าวัน ด้วยวาล์วมุมแคบของวาล์วไอดี -10 องศา และวาล์วไอเสียแนวตั้ง 11 องศา เพื่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของห้องจุดระเบิดเชื้อเพลิง การเผาไหม้อย่างรวดเร็วนี้สนับสนุนอัตราส่วนกำลังอัดได้ถึง 13.0:1 ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มกำลังได้ถึงระดับสูงสุด แต่ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซ และช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการระบายความร้อนโดยรวมได้อีกด้วย
รถมอเตอร์ไซค์บีเอ็มดับเบิลยู K 1200 S ยังมาพร้อมกับระบบกันสะเทือนล้อหน้า ที่มีชื่อว่า Duolever พร้อมด้วยกลศาสตร์การเคลื่อนไหวที่สมบูรณ์แบบ ข้อได้เปรียบหลักของการออกแบบ Duolever คือรูปทรงเรขาคณิตที่สอดคล้องกัน ช่วยให้เกิดเสถียรภาพที่เหมาะสมและรักษาความคล่องตัวไปพร้อมๆ กัน นอกเหนือจากนั้น อัตราการสปริงตัวและการหน่วงยังหนักแน่นโดยไม่สูญเสียความสะดวกสบายขณะขับขี่ นี่คือการออกแบบที่รวมไว้ซึ่งความสะดวกสบาย ความคล่องตัว รวมถึงความสามารถในการซึมซับและรองรับแรงกระแทกได้ภายในหนึ่งเดียว
สำหรับโรงเรียนจิตรลดา (สายวิชาชีพ) มีการร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือกับบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2557 โดยมุ่งหมายที่จะเริ่มโครงการพัฒนาบุคลากรด้าน Mechatronics ในปี พ.ศ. 2559 ด้วยจุดประสงค์ในการพัฒนาศักยภาพอาชีวศึกษาไทย รวมถึงทักษะและความสามารถของบุคลากรด้านยานยนต์ให้เทียบเท่าระดับสากล พร้อมรองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
สำหรับวิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก มหานคร ได้ริเริ่มโครงการ BMW Service Apprentice Program เมื่อปี พ.ศ. 2555 ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการการศึกษาระบบทวิภาคีเยอรมัน-ไทย (German-Thai Dual Excellence Education (GTDEE) program) ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างทั้งสองประเทศ โดยบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ร่วมกับหอการค้าเยอรมัน-ไทย และผู้จำหน่ายบีเอ็มดับเบิลยูอย่างเป็นทางการ อบรมความรู้และฝึกฝนทักษะในสายงานด้านช่างเทคนิคให้แก่นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งนอกจากการเรียนรู้ด้านทฤษฎีแล้ว ยังรวมถึงการอบรมที่ศูนย์ฝึกอบรมของบีเอ็มดับเบิลยู และร่วมปฏิบัติงานกับช่างเทคนิคผู้เชี่ยวชาญจากผู้จำหน่ายบีเอ็มดับเบิลยูอย่างเป็นทางการ โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบอาชีวศึกษาของไทย เพื่อสร้างแรงงานฝีมือที่เปี่ยมด้วยทักษะและความสามารถระดับสูง ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศถึงระดับสูงสุด และขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำด้านศูนย์กลางการผลิตยนตรกรรมระดับโลก