กรุงเทพฯ--9 ต.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานเปิดการสัมมนาเรื่อง "วิกฤติน้ำท่วม-น้ำแล้ง : พลิกโฉมการบริหารจัดการน้ำของไทย"พร้อมทั้งกล่าวสุนทรพจน์ ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ร่วมกับ International Development Research Centre (IDRC) ว่า นโยบายการจัดการน้ำของรัฐบาล ซึ่งได้จัดทำเป็นยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ปี 2558-2569 นับเป็นแผนจัดการน้ำที่สมบูรณ์ที่สุด โดยได้จัดสรรงบประมาณ 50,000-60,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบปกติในการของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำของประเทศ โดยเน้นการบูรณาการตามแผนน้ำรวมทั้งการพิจารณาไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนระหว่างแผนงานและงบประมาณ ใน 6 ด้าน คือ 1. การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งมีเป้าหมายในปี 2560 ทุกหมู่บ้านจะต้องมีน้ำอุปโภคบริโภค เป็นประปาหมู่บ้าน 7,490 แห่ง ประปาโรงเรียน 6,132 แห่ง 2. การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต ทั้งการเกษตรและอุตสาหกรรม 3. การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4. การจัดการคุณภาพน้ำ 5. การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน และ 6. การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทางรัฐบาลจะมีแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำแล้ว แต่ก็ยินดีที่จะรับฟังประเด็นต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ เช่น ผลที่จะได้รับจากการสัมมนาวันนี้ หากทุกภาคส่วนให้ความสนใจ และเสนอเรื่องนี้มากๆ รัฐบาลพร้อมที่จะให้ความสนใจและรับฟัง เพื่อให้การจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศเดินหน้าต่อไปได้
สำหรับความคืบหน้าการดำเนินการของกระทรวงเกษตรฯ ในการเตรียมการบรรเทาผลกระทบภัยแล้งแรก วันนี้ (9 ตค.58) จะเป็นวันแรกที่กระทรวงเกษตรฯ ส่งทีมสร้างความเข้าใจใน 8 มาตรการที่รัฐบาลจะนำมาช่วยเหลือในช่วงหน้าแล้งเพื่อให้การช่วยเหลือตรงกับความต้องการของประชาชน ประกอบด้วย การส่งเสริมความรู้ และสนับสนุนปัจจัยการผลิต เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน ,การชะลอหรือขยายระยะเวลาการชำระหนี้ที่เกษตรกรมีภาระหนี้กับสถาบันการเงิน,การสร้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร,การเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชน เพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง,การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ,การเพิ่มประสิทธิภาพน้ำต้นทุน,การเสริมสร้างสุขภาพเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการสนับสนุนอื่นๆ
พลเอกฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมถึงสถานการณ์หมอกควันทางภาคใต้ที่มีความรุนแรงมากในปีนี้ ซึ่งเป็นอิทธิพลมาจากสถานการณ์หมอกควันจากไฟไหม้ป่าบนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งขณะนี้จากรายงานล่าสุด พบว่ามีปริมาณฝุ่นละอองลดลงแล้ว อย่างไรก็ตาม จากที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมแก้ปัญหาหมอกควันทางภาคใต้ ล่าสุดได้สั่งการให้กรมฝนหลวงนำเครื่องบินลงพื้นที่จำนวน 4 ลำ ร่วมกับกองทัพอากาศ เพื่อจะดำเนินการทำฝนหลวงเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบโดยเร่งด่วนแล้ว