กรุงเทพฯ--9 ต.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
วันนี้ (๙ ต.ค. ๕๘) เวลา ๐๗.๓๐ น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ศปก.พม.) ครั้งที่๒๕๘/๒๕๕๗-๒๕๕๘ เพื่อรับทราบปัญหาทางสังคมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และร่วมหาแนวทางการแก้ไขและการป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานในกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุม
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า จากกรณีพ่อ อายุ ๔๑ ปี ที่ข่มขืนกระทำชำเราลูกสาวแท้ๆ อายุ ๑๒ ปี มานานร่วม ๖ เดือน ซึ่งเด็กหญิงดังกล่าวถูกแม่ทอดทิ้ง ต้องอาศัยอยู่กับพ่อติดสุรา ไม่มีงานทำ และย่าพิการตาบอด อายุ 70 ปีที่ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครพนม (พมจ.นครพนม) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นตามภารกิจกระทรวงฯ พร้อมเร่งเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจของเด็กหญิงอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเด็กหญิงและย่าที่พิการในด้านต่างๆ
สำหรับกรณีลูกสาวของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ติดตามจับคนร้ายคดียาเสพติดจนถูกรถยนต์ชนจนได้รับบาดเจ็บสาหัสและต้องกลายเป็นเจ้าชายนิทรา ขณะนี้ ได้เข้ารับราชการตำรวจแล้ว และรับเงินเดือนประมาณ 4,800 บาท เมื่อว่างจากการทำงานจะกลับมาดูแลพ่อที่ยังนอนไม่ได้สติ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงในการดูแลรักษา ที่จังหวัดชลบุรี ตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชลบุรี (พมจ.ชลบุรี) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือในเบื้องต้น ตามภารกิจกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า จากการที่ตนได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.)และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ลงพื้นที่ช่วยเหลือคนพิการผู้ประสบปัญหาสังคมต่างๆ จากการประชุม ศปก.พม. กรณี ชายอายุ ๕๒ ปี ที่พิการแขนขาลีบมาแต่กำเนิด ใช้เท้าวาดรูปแทนมือ ทั้งที่เท้าลีบไม่ต่างจากมือทั้ง ๒ ข้าง เพื่อหาเลี้ยงชีพตนเอง และสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ทุกอย่าง โดยไม่ยอมเป็นภาระให้กับแม่และคนรอบข้าง อาศัยอยู่กับแม่และพี่น้องอีก ๖ คน ในจังหวัดสิงห์บุรี นั้น ล่าสุดได้รับรายงานว่า เจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือกรณีดังกล่าว โดยได้ดำเนินการปรับสภาพสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมสำหรับผู้พิการ เป็นเงินจำนวน๒๐,๐๐๐ บาท และได้ให้คำแนะนำในเรื่องการกู้ยืมเงินจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จำนวน ๔๐,๐๐๐ บาท เพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพ นอกจากนี้ พก. ยังได้นำภาพวาดด้วยเท้าของชายพิการดังกล่าว ไปเผยแพร่และจำหน่ายบนเวปไซต์ตลาดอาชีพอิสระคนพิการ เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าของภาพวาดทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งช่องทางและกรณีนักศึกษาหญิง อายุ ๑๙ ปี ที่ร่างกายผิดปกติ ขา ๒ ข้างสั้น-ยาวไม่เท่ากันมาตั้งแต่เกิด มีส่วนสูงเพียง๑๑๐ เซนติเมตร มีความขยันตั้งใจเรียน สู้ชีวิตหาโอกาสเรียน จนสามารถสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้ โดยไม่เคยนำปมด้อยที่ตัวเองขาพิการมาปิดกั้นโอกาสในการศึกษา และครอบครัวมีฐานะยากจน ที่จังหวัดสงขลา นั้น เจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือกรณีดังกล่าวแล้ว โดยมอบเงินสงเคราะห์คนพิการ จำนวน ๒,๐๐๐ บาท และประสานมหาวิทยาลัย เรื่องสิทธิทางการศึกษาของคนพิการ และจัดตั้งศูนย์บริการนักศึกษาพิการ เพื่อเป็นการช่วยเหลือด้านการศึกษาในระยะยาว
"สำหรับกรณีชายชราสู้ชีวิตเดินไม่ค่อยไหว พิการทางการได้ยิน มีอาการหูตึง นั่งรับจ้างเย็บผ้าด้วยจักรสภาพเก่าที่เพิงริมถนนสนามบิน ในจังหวัดชัยภูมิ เพื่อหาเงินเลี้ยงชีพ มีรายได้วันละ ๗๐-๑๐๐ บ. โดยชายชราระบุว่า "ถึงจะนั่งเย็บผ้าได้เงินไม่กี่บาท ก็ยังดีกว่าไปนั่งขอทาน" นั้น เจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือและได้มอบเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยเป็นกรณีฉุกเฉิน จำนวน ๒,๐๐๐ บาท พร้อมทั้งยกย่องว่าเป็นคนพิการตัวอย่างที่ดีของสังคม ซึ่งเป็นแบบอย่างในการสู้ชีวิตให้กับคนพิการทั่วประเทศ" พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย