กรุงเทพฯ--9 ต.ค.--กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้บริหารกระทรวงฯ และหน่วยงานที่กำกับดูแล โดยหารือรายละเอียดโครงการสำคัญ (Flagship Projects) ในระยะเร่งด่วนของกระทรวงไอซีที ครั้งที่ 2 ว่า จากการพิจารณาและวิเคราะห์ข้อมูลโครงการที่สามารถดำเนินการด้วยการบูรณาการงานร่วมกัน โดยกำหนดหน่วยงานหลักและหน่วยงานสนับสนุนการดำเนินงาน รวมทั้งให้แต่ละโครงการระบุถึงกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์ และผลสำเร็จที่จะเกิดขึ้นในรอบ 3-6 เดือน และแผนงานที่จะดำเนินการต่อในระยะ 1 ปี ได้ข้อสรุปร่วมกันในเบื้องต้นว่า โครงการสำคัญเร่งด่วนที่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมสำเร็จโดยเร็ว แบ่งเป็น 6 มิติ ดังนี้
1.การส่งเสริมการสร้างโอกาสในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลประกอบธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs (Digitized SMEs) โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินธุรกิจ เช่น ระบบสินค้าคงคลัง และระบบบัญชี ซึ่งจะต้องมีโครงการจัดกิจกรรมเข้าไปสนับสนุนและต้องบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น เช่น กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น
2.การสร้างโอกาสและความเท่าเทียมทางสังคม (Digital Society) โดยเฉพาะด้านการศึกษา โดยบูรณาการ
การทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานในสังกัด อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สกอ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เป็นต้น เพื่อสนับสนุนการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ รวมทั้งนำระบบการเรียนทางไกล เช่น โทรทัศน์ผ่านดาวเทียมแพร่ภาพสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต การพัฒนามหาวิทยาลัยไซเบอร์เพื่อจัดการเรียนการสอนระบบเปิด (Thai-MOOC)
3.การปรับเปลี่ยนกระบวนการของภาครัฐในการให้บริการประชาชนโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (e-Government Service) โดยให้บริการในลักษณะ One Stop Service หรือบริการเบ็ดเสร็จครบวงจรในจุดเดียว
4.การพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล (Digital Workforce) เป็นการเตรียมคนเพื่อให้พร้อมเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลใน 3 ระดับ คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
5.การพัฒนาความเชื่อมโยงโครงข่ายเพื่อสนับสนุนงานของทุกภาคส่วน (Network Connectivity) ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้ครอบคลุมและทั่วถึง รวมถึงโครงการบูรณาการนำสายเคเบิลร้อยท่อลงดิน เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างคุ้มค่า และมีการบริหารจัดการที่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดย บมจ.ทีโอที (TOT) และ บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) จะต้องประสานการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นต้น
และ 6.การดำเนินโครงการ Smart City (การพัฒนา Smart City หรือ Digital City) ตามซูเปอร์คลัสเตอร์ที่กำหนดให้ภูเก็ตและเชียงใหม่เป็นจังหวัดนำร่อง
"โครงการ Flagship Projects ระยะเร่งด่วนของกระทรวงฯ มีความสอดคล้องในการร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีวาระสำคัญ ได้แก่ การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ มุ่งเน้นกลุ่ม SMEs และชุมชน โดยอาศัยเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ซึ่งจะปรับเปลี่ยนเป็นศูนย์เศรษฐกิจดิจิทัลชุมชนแล้วขยายเครือข่ายเพื่อให้ความรู้ด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) เข้าสู่ชุมชน การพัฒนาเมืองและพื้นที่เพื่อสนับสนุนซูเปอร์คลัสเตอร์โดยตรง โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลที่ภูเก็ตและเชียงใหม่ โดยเริ่มจากการทำให้ภูเก็ตเป็น Smart City ให้เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยี การยกระดับคุณภาพชีวิต ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ด้วยการใช้เทคโนโลยีด้านการศึกษาบูรณาการทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขับเคลื่อนภาครัฐเพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง คล่องตัว และเชื่อมโยงฐานข้อมูลที่มีอยู่มากมาย ตลอดจนการพัฒนาทุนมนุษย์ให้มีความพร้อม บุคลากรภาครัฐและเอกชนต้องปรับเปลี่ยนความเข้าใจในการทำงานให้สอดรับกับดิจิทัล และการมีโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ทั่วประเทศ" นายอุตตม กล่าว