กรุงเทพฯ--12 ต.ค.--สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน
ซินโครตรอน ประสบความสำเร็จในการผลิตแสงซินโครตรอนย่านรังสีเอกซ์พลังงานสูง (Hard X-ray) ได้ครั้งแรกในประเทศไทย แห่งเดียวในภูมิภาคอาเซียน โดยมีสถานีทดลองที่รองรับงานวิจัยด้านการศึกษาโครงสร้างสามมิติของโปรตีนและโมเลกุลที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การพัฒนาออกแบบตัวยาใหม่ๆ และแก้ไขปัญหาการดื้อยา
ศาสตราจารย์ น.ท.ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า "สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เป็นสถาบันที่เป็นที่ตั้งของห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ด้านแสงซินโครตรอนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยเปิดเป็นห้องปฏิบัติการกลางของประเทศ สำหรับให้บริการแสงซินโครตรอนและเทคโนโลยีเชิงวิศวกรรม เรามีการพัฒนาเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลิตแสงซินโครตรอนที่มีประสิทธิภาพ และสามารถนำแสงซินโครตรอนไปใช้ประโยชน์ในงานวิจัยและพัฒนาหลายด้าน เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันฯ ประสบความสำเร็จในการผลิตแสงซินโครตรอนย่านรังสีเอกซ์พลังงานสูงครั้งแรกในประเทศไทย หนึ่งเดียวในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งพัฒนาระบบลำเลียงแสงและสถานีทดลองผลึกศาสตร์ที่รองรับเทคนิค Macromolecular Crystallography (BL7.2W: MX) เพื่อใช้ในการศึกษาหาโครงสร้างสามมิติของโปรตีนและโมเลกุลอื่นที่เกี่ยวข้องในระดับอะตอม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาออกแบบตัวยาใหม่ๆ การพัฒนาเอนไซม์ที่มีความสำคัญทางเทคโนโลยีชีวภาพ และการศึกษากลไกต่างๆ ในสิ่งมีชีวิต"
ดร.ณัฐธวัล ประมาณพล นักวิจัย กล่าวเพิ่มเติมว่า "ระบบลำเลียงแสงและสถานีทดลองนี้ เป็นเครื่องมือสำคัญ ที่รองรับการวิจัยพัฒนาทางด้านชีววิทยาโครงสร้าง (Structural Biology) และช่วยเพิ่มศักยภาพของการศึกษาวิจัยทางด้านผลึกศาสตร์ในประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนให้เข้มแข็ง และทัดเทียมนานาประเทศ หากเราทราบโครงสร้างสามมิติของ โปรตีน เอนไซม์ หรือแม้กระทั่ง ดีเอนเอ และกรดนิวคลีอิก จะช่วยให้เราเข้าใจกลไกการทำงานในสิ่งมีชีวิต ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในงานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยเฉพาะการศึกษากลไกการทำงานของโปรตีนเป้าหมาย และยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่สำคัญในการเกิดโรค เพื่อพัฒนาตัวยาปฏิชีวนะ ช่วยแก้ปัญหาการดื้อยาของเชื้อโรค เป็นต้น
ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณจะเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดระบบลำเลียงแสงผลึกศาสตร์ ในวันที่ 13 ตุลาคม 2558 ณ ห้องปฏิบัติการแสงสยาม สถาบันวิจัยแสง ซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา"
และหากอาจารย์ นักศึกษา หรือนักวิจัยท่านใด สนใจขอเข้าใช้บริการแสงซินโครตรอนหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามไปที่ ส่วนงานบริการผู้ใช้ 0-4421-7040 ต่อ 1603-5 ได้ หรือ E-mail: mx7@slri.or.th