กรุงเทพฯ--12 ต.ค.--ซีพีเอฟ
นางสาวกุหลาบ กิมศรี รองกรรมการผู้จัดการ สำนักระบบมาตรฐานสากล บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟมุ่งมั่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่ยั่งยืน จึงออกแบบ "โครงการผลิตภัณฑ์ซีพีเอฟที่ยั่งยืน" (CPF's Product Sustainability) ครอบคลุมทุกมิติตลอดห่วงโซ่อุปทานสีเขียว ตั้งแต่วัตถุดิบอาหารสัตว์จนถึงการส่งมอบผลิตภัณฑ์สู่ผู้บริโภค พร้อมกำหนดให้ความยั่งยืนเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ภายใต้วิสัยทัศน์ "ครัวของโลก" เพื่อตอบโจทย์การสร้างเส้นทางอาหารมั่นคงควบคู่การใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่าและมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม
นางสาวกุหลาบ กล่าวว่า จากโครงการข้างต้น ทำให้ผลิตภัณฑ์ "ไก่สด" และ "ไก่ปรุงสุก" ของซีพีเอฟได้รับการรับรองให้เป็น "ผลิตภัณฑ์ไก่ที่ยั่งยืนรายแรกของโลก" จาก Det Norske Veritas (DNV-GL) องค์กรรับรองมาตรฐานชั้นนำระดับโลก ต่อเนื่องมานับตั้งแต่ปี 2556 และในงาน Anuga 2015 ที่จัดขึ้นในช่วงวันที่ 10-14 ตุลาคมนี้ บริษัทจะได้รับใบรับรองมาตรฐาน ProSustain ในผลิตภัณฑ์ไก่ จาก DNV-GL ส่งผลให้ซีพีเอฟเป็นผู้ผลิตเนื้อไก่รายแรกของโลกที่ได้รับใบรับรองผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน (Product Sustainability)
ปัจจุบัน ซีพีเอฟมีผลิตภัณฑ์ไก่ยั่งยืนครอบคลุมกว่า 700 รายการ ซึ่งเป็นผลจากการค้นคว้าและพัฒนาสินค้า ที่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์ การเลี้ยงภายใต้สวัสดิภาพสัตว์ที่ดี การแปรรูปเนื้อสัตว์ การบริโภค และการจัดการของเสีย ทั้งที่เกิดขึ้นภายในกระบวนการจนถึงขยะบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค ผ่านหลักประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Product Life Cyle Assessment) และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดกระบวนการผลิต
ขณะเดียวกัน ซีพีเอฟได้ร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ อบก.ใน "โครงการคาร์บอนฟุตพริ้นท์" ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดกระบวนการผลิต อาทิ การนำน้ำมันพืชใช้แล้ว มาผลิตเป็นน้ำมันดีเซลเพื่อใช้ขนส่งสินค้าในโรงงาน การนำน้ำเสียมาผลิตไบโอแก๊ส ใช้ทดแทนน้ำมันเตา และโครงการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งเมื่อสามารถลดคาร์บอนภายในโรงงานได้ จะส่งผลต่อคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ ที่ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เข้าร่วมโครงการฯทั้งสิ้น 146 รายการ
นางสาวกุหลาบ กล่าวด้วยว่า ล่าสุดผลิตภัณฑ์ซีพีเอฟยังได้รับ "ฉลากลดโลกร้อน" เพิ่มขึ้น 2 รายการ ได้แก่ "เกี๊ยวกุ้ง" มีค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 1.05 kgCO2/145 กรัม น้อยกว่า 23% เมื่อเทียบกับค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในปี 2555 และ "ไก่สดอนามัย" มีค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 2.99 KgCO2/1000 กรัม น้อยกว่า 50% เมื่อเทียบกับฐานข้อมูลเนื้อไก่ประเทศไทย ทำให้มั่นใจได้ว่าเมื่อผู้บริโภคตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์อาหารของซีพีเอฟแล้ว จะมีส่วนช่วยในการลดโลกร้อนได้อย่างแน่นอน ซึ่งบริษัทมุ่งมั่นใจการสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหารที่มีคุณค่า ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
"การสร้างความยั่งยืนเพื่อลดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเกิดผลสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือและร่วมใจจากทุกภาคส่วน ไม่เฉพาะองค์กรธุรกิจเท่านั้น มิฉะนั้นจะไม่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ผู้บริโภค" มีส่วนสำคัญในการสร้างเส้นทางที่ยั่งยืน หากตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนในการร่วมรักษ์โลกใบนี้ หากทุกคนให้ความร่วมมือร่วมใจร่วมใช้ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนเพื่อการบริโภคที่ยั่งยืน ซีพีเอฟมั่นใจว่าปัญหาการขาดแคลนอาหาร และ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรในอนาคตจะลดลงอย่างแน่นอน" นางสาวกุหลาบ กล่าวทิ้งท้าย