กรุงเทพฯ--12 ต.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 ติดตามผลโครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก จังหวัดอุตรดิตถ์ ปี 2557/58 ในพื้นที่ฝั่งขวาของเขื่อน ใน 3 อำเภอ 14 ตำบล รวม 400 ครัวเรือนเกษตร เผย เกษตรกรส่วนใหญ่ เห็นว่าโครงการฯ ตรงตามความต้องการ และเกิดประโยชน์ในระดับมาก ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำเพื่อทำการเกษตรได้จริง
นายชวพฤฒ อินทรเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก (สศท.2) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการติดตามประเมินผลตามแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนติดตามตรวจผลกระทบสิ่งแวดล้อม ปีงบประมาณ 2558 ในโครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก จังหวัดอุตรดิตถ์ ปีเพาะปลูก 2557/58 (1 พฤษภาคม 2557 – 30 เมษายน 2558) ของกรมชลประทาน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก และช่วยเกษตรกรให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอต่อการผลิต โดยการสุ่มตัวอย่าง และเก็บข้อมูลจากเกษตรกร 400 ครัวเรือน รวม 3 อำเภอ 14 ตำบล (ระหว่างเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2558) ที่ประกอบอาชีพด้านการเกษตรบริเวณฝั่งขวาของเขื่อนทดน้ำผาจุก
จากการลงพื้นที่ พบว่า เกษตรกรมีรายได้เงินสดจากการปลูกพืช รวมเป็นเงิน 245,160 บาท/ครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการปลูกข้าวเจ้านาปีจำนวน 103,391 บาท รองลงมาเป็นรายได้จากการปลูกข้าวเจ้านาปรังจำนวน 51,108 บาท และอ้อยโรงงาน จำนวน 68,163 บาท
ด้านรายจ่ายเงินสดจากการปลูกพืช รวมเป็นเงิน 173,109 บาท/ครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นค่าพันธุ์ ค่าปุ๋ย/ยา ค่าน้ำมัน ค่าจ้างแรงงานในการทำนาปี 81,947 บาท รองลงมาเป็นรายจ่ายทำนาปรัง 41,125 บาท และรายจ่ายปลูกอ้อยโรงงาน 38,681 บาท
ด้านมูลค่าผลิตผลที่นำมาบริโภค รวมทั้งสิ้นเท่ากับ 17,016 บาท/ครัวเรือน ส่วนใหญ่มาจากด้านพืช 15,196 บาท โดยเกษตรกรมีค่าใช้จ่ายในการจัดหาน้ำมาใช้เพื่อการเกษตรของครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ 77 เฉลี่ย 8,277 บาท/ครัวเรือน โดยแยกเป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิงสูบน้ำ 5,297 บาท และ ค่าไฟฟ้าสูบน้ำ 2,668 บาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ
นอกจากนี้ เกษตรกรเห็นว่า โครงการฯ ดังกล่าว ตรงกับความต้องการในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 59 มีความเหมาะสมกับพื้นที่และช่วยให้มีรายได้ทางการเกษตรเพิ่มขึ้นในระดับมากเท่ากัน คิดเป็นร้อยละ 54 ส่วนหนี้สิน (ณ 30 เมษายน 2558) คิดเป็นร้อยละ 74 เฉลี่ย 242,317 บาท/ครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นหนี้ในระบบ คิดเป็นร้อยละ 73 (หนี้ในระบบ จำนวน 237,324 บาท และหนี้นอกระบบ จำนวน 4,993 บาท)
ทั้งนี้ ทัศนคติของเกษตรกร เห็นว่าช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูฝน/ฝนทิ้งช่วง คิดเป็นร้อยละ 71 โดยความคาดหวังของเกษตรกรต่อการผลิตด้านการเกษตรภายหลังมีโครงการฯ ส่วนใหญ่เห็นว่าเกิดประโยชน์มาก คิดเป็นร้อยละ 63 และคาดหวังว่าจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำเพื่อทำการเกษตร คิดเป็นร้อยละ 82 เช่น คาดว่าจะช่วยให้มีน้ำเพียงพอเพื่อทำการเกษตรในฤดูแล้ง มีจำนวนรอบการผลิตเพิ่มขึ้น ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดหาน้ำ ลดหรือบรรเทาภัยจากน้ำท่วม และขยายพื้นที่ทำการเกษตรเพิ่มขึ้น เป็นต้น