กรุงเทพฯ--12 ต.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคณะแพทยศาสตร์ แนะประชาชนเลือกรับประทานอาหารเจให้เหมาะสมตามวัย อายุและสภาพร่างกาย เตือนผู้ป่วยที่มีภาวะแพ้อาหารอยู่แล้วเสี่ยงต่อการแพ้อาหารเจได้ง่าย หรือผู้ที่บริโภคอาหารชนิดเดิมซ้ำๆ จำนวนมาก เป็นเวลานานก็อาจกระตุ้นให้แพ้อาหารชนิดนั้นได้เช่นกัน แม้ว่าไม่เคยแพ้มาก่อนโดยเฉพาะอาหารประเภทนมถั่วเหลือง แป้งสาลี และถั่ว โดยพบว่าผู้ป่วยที่แพ้นมวัวมักจะแพ้นมถั่วเหลืองร่วมด้วยร้อยละ 15-30 นอกจากนี้ในเนื้อสัตว์เทียมของอาหารเจก็ทำจากแป้งกลูเตน ซึ่งเป็นไกลโคโปรตีนที่ผลิตจาจากแป้งข้าวสาลี ซึ่งเป็นอาหารที่คนไทยแพ้ได้บ่อยไม่แพ้กัน
รศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล หัวหน้าหน่วยโรคภูมิแพ้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า อาหารเจเป็นอาหารที่ปรุงโดยปราศจากเนื้อสัตว์ โดยได้โปรตีนจากพืชเป็นหลัก เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ธัญพืช ส่วนประกอบหลักของอาหารเจได้แก่ ธัญพืชพวกถั่ว งา ผักและผลไม้ 5 สี ได้แก่ ขาว ดำ แดง เขียว เหลือง โดยทั่วไปการรับประทานเจต้องเลือกปฏิบัติให้เหมาะสมตามวัย อายุและสภาพร่างกายของแต่ละคน อย่างไรก็ตามอาหารเจอาจมีผลต่อภาวะภูมิแพ้อาหารได้ โดยผู้ป่วยที่มีภาวะแพ้อาหารอยู่แล้ว อาจเสี่ยงต่อการแพ้อาหารเจได้ง่ายหรือผู้ที่บริโภคอาหารชนิดเดิมซ้ำๆ จำนวนมาก เป็นเวลานานก็อาจกระตุ้นให้แพ้อาหารชนิดนั้นได้ ถึงแม้ว่าไม่เคยแพ้มาก่อนโดยเฉพาะอาหารประเภทนมถั่วเหลือง แป้งสาลี และถั่ว โดยพบผู้ป่วยที่แพ้นมวัวมักจะแพ้นมถั่วเหลืองร่วมด้วยร้อยละ 15-30 นอกจากนี้ในเนื้อสัตว์เทียมของอาหารเจก็ทำจากแป้งกลูเตน ซึ่งเป็นไกลโคโปรตีนที่ผลิตจาจากแป้งข้าวสาลี ซึ่งเป็นอาหารที่คนไทยแพ้ได้บ่อยเช่นกัน ดังนั้นจึงควรระวังการบริโภคอาหารเจในผู้ป่วยกลุ่มที่แพ้อาหารโดยเฉพาะผู้ที่แพ้นมวัว นมถั่วเหลือง หรือแพ้แป้งสาลีในกรณีต้องการบริโภคอาหารเจ อาจเลี่ยงไปบริโภคอาหารประเภทแป้งที่ทำจากข้าวเจ้า ข้าวเหนียว แป้งข้าวโพด ที่ไม่ก่อให้แพ้และได้พลังงานเช่นกัน
"ข้อแนะนำในการบริโภคอาหารเจสำหรับผู้ป่วยที่แพ้อาหารคือ กรณีที่แพ้นมวัวควรระวังในการบริโภคนมถั่วเหลืองเพราะอาจพบว่าแพ้นมถั่วเหลืองร่วมด้วยได้ โดยอาหารที่มีถั่วเหลืองเป็นส่วนผสม ได้แก่ นมถั่วเหลือง น้ำเต้าหู้ เต้าหู้ ซีอิ๊ว อาหารที่ปรุงรสด้วยซีอิ๊ว ซอสปรุงรสต่างๆ ราดหน้าใส่เต้าเจี้ยว น้ำจิ้มข้าวมันไก่ หอยจ๊อที่ห่อด้วยฟองเต้าหู้ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปสำหรับทำอาหารเจอย่างโปรตีนเกษตร (ของพวกนี้ทำจากถั่วเหลืองแทบทั้งสิ้น) เป็นต้น สำหรับอาหารที่มีแป้งสาลีเป็นส่วนผสม ได้แก่ อาหารที่ใช้แป้งเป็นส่วนประกอบอย่างพวก ขนมปัง เส้นพาสต้าต่างๆ เค้ก ขนมอบ เบเกอรี่ต่างๆ อาหารชุบแป้งทอดหรือเกล็ดขนมปัง เป็นต้น ดังนั้นจึงควรระวังในการบริโภคอาหารกลุ่มนี้ในผู้ป่วยที่แพ้อาหาร" รศ.พญ.อรพรรณ กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับวิธีสังเกตว่าตนเองแพ้อาหารหรือไม่นั้นดูได้จาก 1.อาการทางผิวหนัง เช่นมีผื่นเล็กๆนูนแดงคัน บวม คล้ายลมพิษซึ่งอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังรับประทานอาหารชนิดนั้น นอกจากนี้อาจมีผื่นอีกประเภทที่แดง คัน แห้ง ลอก ซึ่งในเด็กเล็กมักมีจะมีผื่นที่แก้ม ข้อศอก แต่เมื่อโตขึ้นจะมีผื่นที่ข้อพับ ซึ่งผื่นลักษณะนี้มักจะเป็นภายหลังได้รับอาหารชนิดนั้นเป็นเวลาหลายวันถึงสัปดาห์ 2.อาการระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ปวดท้องแบบบิด 3.อาการระบบทางหายใจเช่น มีน้ำมูก คัดจมูก จาม หายใจไม่สะดวก โดยข้อควรระวังคือหากเกิดการแพ้อย่างรุนแรง ผู้ป่วยมักจะมีอาการหลายระบบ ทั้งอาการทางผิวหนัง ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร ร่วมถึงระบบการไหลเวียนโลหิต ซึ่งหากปฏิกิริยานั้นเกิดขึ้นรวดเร็ว รุนแรงอาจมีผลทำให้ผู้ป่วย ช็อค หมดสติ เขียว และเสียชีวิตได้ ดังนั้นหากไม่มั่นใจว่าแพ้อาหารชนิดไหน ก่อนบริโภคควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง หรือเจาะเลือดว่ามีภาวะแพ้อาหารชนิดนั้นหรือไม่ รศ.พญ.อรพรรณ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้สนใจรายเอียดเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทร.02-613-3030 หรือคลิกเข้าไปที่เว็บไซต์ www.pr.tu.ac.th