กรุงเทพฯ--12 ต.ค.--สมิติเวช
โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช มิติใหม่ในการดูแลสุขภาพเด็ก ด้วยคอนเซปต์ Hospital in hospital ทั้งที่แคมปัส สุขุมวิทและแคมปัสศรีนครินทร์ ด้วยทีมแพทย์มากที่สุดในประเทศไทยกว่า 150 คน เซ็นสัญญาร่วมกับพันธมิตร Doernbecher Children's Hospital ประเทศสหรัฐอเมริกาพัฒนาในด้านการแพทย์
พญ. สุรางคณา เตชะไพฑูรย์ ผู้อำนวยการ รพ. เด็กสมิติเวช กล่าว ว่า หลังจากได้เซ็นสัญญาร่วมมือกับ Doernbecher Children's Hospital ซึ่งนำโดย Jan Freitas-Nichols,RN,MN,PNP และ Professor Dr.Miles S. Ellenby , MD ทาง รพ. ได้มีการวางแผนเพื่อก้าวสู่มาตรฐานการบริการชั้นยอดระดับสากลอย่างเต็มรูปแบบ โดยส่งแพทย์และพยาบาลไปศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องเด็ก ณ ประเทศอเมริกา โดยมุ่งเน้นเรื่อง ทารกแรกเกิด ผู้ป่วยเด็กวิกฤต การผ่าตัดรักษาโรคร้ายต่างๆ การปลูกถ่ายไขกระดูกรักษาโรคมะเร็งในเม็ดเลือด รวมถึงวางแผนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเชื่อมโยงพัฒนารูปแบบกิจกรรมในการช่วยเหลือฟื้นฟฟูจิตใจของเด็กโดยก่อตั้ง โครงการ Child Life ซึ่งเป็นโครงการที่ดูแลเด็กแบบองค์รวมที่พยาบาลจะแต่งตัวเป็นการ์ตูนมาดูแลน้องๆ เพื่อให้เค้ารู้สึกมีความสุข และเป็นการเยียวยาสภาพจิตใจของเด็กขณะรักษาตัวในโรงพยาบาล ล่าสุดในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้ทางทีมกุมารแพทย์จาก Doernbecher Children's Hospital ได้นำความเชี่ยวชาญมา แลกเปลี่ยน เชื่อมโยงความรู้ เพิ่มพูนประสบการณ์ให้กับทีมกุมารแพทย์สมิติเวช ในงานปาฐกถาพิเศษ " ความสำคัญของสารอาหารในมารดา และทารกต่อการป้องกันวัณโรค และ การพัฒนานวัตกรรมดูแลทารกระหว่างทีมกุมารแพทย์ผ่าน Telemedicine" ในงานประชุมวิชาการที่เครือโรงพยาบาลจัดอย่างยิ่งใหญ่ต่อเนื่องทุกปี พร้อมกันนี้ได้เข้ามาร่วมมือในเรื่องการดูแลผู้ป่วยทารก ผู้ป่วยเด็กวิกฤต และโรคยากในเด็กต่างๆ อย่างเจาะลึก โดยร่วมวางแผนการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การดูแลผู้ป่วยทารกและผู้ป่วยเด็กโรคหัวใจที่มีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ร่วมด้วย การผ่าตัดรักษาโรคยากในทารกแรกเกิด เพื่อให้มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยเด็กอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
ทั้งนี้ รพ. ถือว่าเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกที่มีศูนย์เด็กพิเศษ และศูนย์วัยรุ่น เพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กอยู่ร่วมกับสังคมปกติได้ และในการยกระดับเป็นโรงพยาบาลเด็กนานาชาติดังกล่าว สมิติเวชมีความพร้อม โดยได้รับการรับรองมาตรฐาน JCI จากสหรัฐอเมริกา รวมทั้งยังได้รับการรับรองมาตรฐานการรักษาโรคหืดในเด็ก (Clinical Care Program Certification – CCPC for Childhood Asthma Care) เป็นแห่งแรกนอกสหรัฐอเมริกาอีกด้วย รวมถึงใมีการอบรม สัมมนา ประชุมวิชากร การส่งเสริมด้านวิชาการการแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ทั้งระดับในประเทศและนานาชาติ