กรุงเทพฯ--12 ต.ค.--กสทช.
ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 25/2558 วันอังคารที่ 13 ตุลาคม 2558 มีวาระการประชุมที่น่าจับตา คือวาระเพื่อทราบเรื่องศาลปกครองสูงสุดยกคำขอทุเลาคำสั่งทางปกครองที่สำนักงาน กสทช. กำหนดค่าปรับผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่ไม่ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลและรายละเอียดผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ Pre-paid ให้ครบถ้วน ตามประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดสรรและบริการเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ. 2551 โดยกรณีนี้สืบเนื่องจากที่สำนักงาน กสทช. มีคำสั่งลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 กำหนดค่าปรับทางปกครองผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่ไม่ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลและรายละเอียดผู้ใช้บริการในอัตราวันละ 80,000 บาท แต่ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส และ บมจ. กสท โทรคมนาคม ได้ยื่นฟ้องคำสั่งดังกล่าวและขอทุเลาการบังคับตามคำสั่ง ซึ่งในเวลาต่อมา ศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น
อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่สำนักงาน กสทช. ได้อุทธรณ์คำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองต่อศาลปกครองสูงสุด ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2558 ศาลปกครองสูงสุดก็ได้กลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เพราะเห็นว่าการทุเลาการบังคับตามคำสั่งดังกล่าวจะเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐ เนื่องจากทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครองขาดเครื่องมือในการดำเนินการให้คำสั่งทางปกครองดังกล่าวบรรลุผล ซึ่งคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดถือเป็นที่สุด และไม่สามารถอุทธรณ์ได้อีก นั่นหมายความว่าคำสั่งกำหนดค่าปรับทางปกครองยังมีผลใช้บังคับ ดังนั้นทั้ง บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส และ บมจ. กสท โทรคมนาคม จะต้องชำระค่าปรับวันละ 80,000 บาทไปจนกว่าจะได้ปฏิบัติตามจนครบถ้วน ขณะที่ความคืบหน้าของคดีนั้น ปัจจุบันยังคงอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้น ซึ่งศาลได้แจ้งกำหนดวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 ของสายงานกิจการโทรคมนาคมที่แม้ยังไม่มีการบรรจุอยู่ในวาระการประชุม แต่คาดว่าน่าจะมีการนำเสนอเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาในครั้งนี้ด้วย โดยสายงานกิจการโทรคมนาคมมีคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 จำนวนทั้งสิ้น 692,194,160 บาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณรายจ่ายที่ได้รับการอนุมัติของปี 2558 จำนวน 75.273 ล้านบาท แต่ข้อน่าสังเกตของคำขอตั้งงบประมาณในครั้งนี้คือ งบประมาณประจำและงบผูกพันข้ามปีนั้น รวมกันแล้วสูงถึง 83.3 เปอร์เซ็นต์ โดยคงเหลือสัดส่วนของงบประมาณโครงการเพียง 16.7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทั้งนี้ในส่วนของ งบประมาณประจำจำนวน 562,896,550 บาท คิดเป็น 66 เปอร์เซ็นต์ และงบผูกพันข้ามปีจำนวน 119,823,210 บาท คิดเป็น 17.3 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคำของบประมาณรายจ่ายโครงการใหม่ตั้งไว้เพียง 116,000,000 บาท ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่างบโครงการผูกพันข้ามปีเสียอีก
ขณะที่ในส่วนของงบประมาณประจำ ก็มีข้อน่าสังเกตด้วยว่า มีคำขอตั้งงบดำเนินงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยขอตั้งงบดำเนินการไว้จำนวนถึง 456,370,950 บาท คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้นประมาณ 31 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปี 2558 โดยในจำนวนนี้มีค่าใช้จ่ายในการจัดการและบริหารองค์กรเป็นรายจ่ายสำคัญ ซึ่งค่าจ้างเหมาบริการเป็นรายการที่มีขอตั้งงบประมาณไว้สูงสุด มีจำนวนถึง 66,488,000 บาท หรือคิดเป็น 24.3 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายในส่วนนี้