กรุงเทพฯ--12 ต.ค.--Irim
โรคมะเร็ง สาเหตุการเสียชีวิตอันดับ1 ของคนไทยติดต่อกันมาเป็นเวลานานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 มีผู้เสียชีวิตปีละประมาณ 61,082 คน โดยในปี พ.ศ.2554 พบว่า มีคนไทยป่วยเป็น มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก 10,624 คน ซึ่งจะพบมากเป็นอันดับ 3 ในเพศชาย และอันดับ 4 ในเพศหญิง ดังนั้น การลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งดังกล่าว โดยการป้องกันจึงเป็นเรื่องที่ยังต้องให้ความสำคัญเช่นเดียวกับการตรวจคัดกรอง เพื่อค้นหามะเร็งในระยะเริ่มแรก เพื่อให้ผลการรักษาที่ดีและเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการรักษามะเร็งในระยะลุกลาม โดยเมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งศูนย์ส่องกล้องระบบทางเดินอาหารเพื่อตรวจหามะเร็งระยะเริ่มต้น และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี ระหว่าง 2 สถาบัน
นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์ส่องกล้องระบบทางเดินอาหารเป็นศูนย์ฝึกอบรมเทคโนโลยีใหม่ในการค้นหามะเร็งทางเดินอาหารในระยะเริ่มต้น (Early Cancer Detection Training Center) ในภูมิภาคอาเซียน และได้ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น เพื่อแลกเปลี่ยนทางวิชาการ และประสบการณ์จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งในการตรวจ วินิจฉัย วิจัยหาสาเหตุหลักของการเกิดโรคมะเร็งระบบทางเดินอาหารทั้งหมด ได้แก่ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับและตับอ่อน โดยนำเทคโนโลยี เครื่องมือขั้นสูงมาใช้ในการปฏิบัติงาน รักษาโรคที่มีความซับซ้อน ด้วยการส่องกล้องเข้าไปตรวจวินิจฉัย และให้การรักษามะเร็งระยะเริ่มต้นโดยการผ่าตัดผ่านกล้องส่องตรวจ เช่น ก้อนเนื้อในลำไส้ หากใช้เทคนิคทั่วไปอาจจะต้องทำการผ่าตัด แต่วิธีการนี้คนไข้จะไม่มีบาดแผล
นอกจากนี้ศูนย์ส่องกล้องฯ ยังทำหน้าที่ฝึกอบรมแพทย์ส่องกล้องโดยเฉพาะ เพื่อให้แพทย์พัฒนาศักยภาพให้มีความเชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากแพทย์ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติแล้ว ยังรวมไปถึงโรงพยาบาลมะเร็งในส่วนภูมิภาคอีก 7 แห่ง นอกจากนี้สถาบันฯ ยังเปิดโอกาสให้โรงพยาบาลศูนย์ หรือโรงพยาบาลทั่วไปที่สนใจด้านนี้ สามารถเข้าร่วมการฝึกอบรมได้ รวมถึงสถาบันฯ ยังพร้อมที่ร่วมมือกับโรงพยาบาลในกลุ่มอาเซียน ประกอบด้วย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม สามารถเข้ารับการฝึกอบรมได้ด้วยเช่นกัน
การลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณนายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นายยาซูฮิสะ ชิโอซากิ(Mr. Yasuhisa Shiozaki) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสุขภาพ แรงงาน และสวัสดิการ ประเทศญี่ปุ่น เป็นสักขีพยาน โดยมหาวิทยาลัยนาโกย่า จะสนับสนุนด้านการฝึกอบรมเป็นระยะเวลา 5 ปี ทั้งการฝึกอบรมที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ รวมถึงการส่งคณะแพทย์เข้าไปอบรมที่ประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นความร่วมมือทางวิชาการด้านโรคมะเร็งของสองประเทศครั้งนี้จึงถือว่าเป็นประโยชน์สูงสุดต่อการดูแลสุขภาพ อันจะส่งผลไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนชาวไทยและประชาชนในภูมิภาคอาเซียน
นี่คือบทบาทสำคัญของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ในการต่อสู้กับโรคมะเร็ง ซึ่งทุกวันนี้มีอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้น และการร่วมมือกับนานาชาติถือเป็นบทบาทและก้าวสำคัญที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มความปลอดภัยในการรักษาโรคให้กับทุกคน ซึ่งวันนี้ไม่ได้มองเฉพาะคนในประเทศเท่านั้น แต่ยังมองไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน เพราะหากคนในภูมิภาคมีสุขภาพที่ดีทุกประเทศก็จะพัฒนาและมีความมั่นคงไปด้วยกัน